บริษัทแอสตราเซเนกา ผู้วิจัยวัคซีนของอังกฤษ-สวีเดน ซึ่งวิจัยวัคซีนร่วมกับมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ดของอังกฤษ เปิดเผยว่าผลการวิจัยวัคซีนในเฟสที่ 3 ในสหรัฐฯ ชิลีและเปรู ใช้อาสาสมัครกว่า 32,000 คน จากทุกกลุ่มอายุเข้ารับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ พบว่าวัคซีนของแอสตราเซเนกา มีความปลอดภัยและประสิทธิภาพในการป้องกันโรคโควิด-19 ร้อยละ 79 ทั้งช่วยป้องกันคนไข้ไม่ให้เจ็บป่วยรุนแรงจนถึงขั้นนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลร้อยละ 100
แอสตราเซเนกา ระบุว่า คณะกรรมการอิสระไม่พบความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ หรือผลข้างเคียงอื่นๆจากอาสาสมัคร ที่ได้รับการฉีดวัคซีน ผลการศึกษานี้อาจจะช่วยให้สาธารณชนเกิดความมั่นใจมากขึ้นเกี่ยวกับวัคซีนของแอสตราเซเนกา ซึ่งแอสตราเซเนกา จะส่งผลวิจัยนี้ไปให้องค์การอาหารและยาสหรัฐฯหรือ FDA พิจารณาเพิ่มเติม พร้อมทั้งจะเผยแพร่ผลการวิจัยในวารสารทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้บรรดาผู้เชี่ยวชาญจากภายนอกร่วมตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
ด้านศาสตราจารย์ซาราห์ กิลเบิร์ต ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนและผู้ร่วมพัฒนาโครงการวัคซีนของมหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ระบุว่าการวิจัยครั้งก่อนที่ระบุว่า มีประสิทธิภาพในการป้องโรคโควิด-19 ร้อยละ 82.1 เป็นการวิจัยวัคซีนในอังกฤษ บราซิลและแอฟริกาใต้ ชื่นชมผลการวิจัยครั้งนี้ว่าย้ำให้เห็นว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกามีความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค
ก่อนหน้านี้ วัคซีนจากแอสตราเซเนกาเป็นประเด็นที่เกิดปัญหาถกเถียงเรื่องความปลอดภัย หลังหลายประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเช่น นอร์เวย์ ฝรั่งเศสและเดนมาร์ก ระงับการใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกาไว้ชั่วคราว หลังมีรายงานว่าผู้ป่วยบางคนมีภาวะลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีนจากแอสตราเซเนกา จนกระทั่งองค์การยายุโรป(EMA) สรุปผลสอบสวนฉุกเฉินเมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้วว่าวัคซีนจากแอสตราเซเนกาปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการป้องกันโรค อีกทั้งไม่ใช่สาเหตุทำให้เกิดความเสี่ยงภาวะลิ่มเลือดอุดตัน หลายประเทศในกลุ่มอียูจึงเริ่มกลับมาใช้วัคซีนจากแอสตราเซเนกาอีกครั้ง
Cr: CNN,Bgdailynews