นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงมติ ศบค.ที่ให้ลดวันกักตัว จากเดิม 14 วัน เหลือ 10 วัน โดยจะแบ่งการประเมินผลเป็น 3 ระยะ คือ
- ระยะที่ 1 ช่วงเดือน เม.ย.-มิ.ย.64
- ระยะที่ 2 ช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย.64
แยกเป็น 2 กรณี คือ
กรณีที่ 1 ในกลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีเชื้อกลายพันธุ์ ตามประกาศของกรมควบคุมโรค จะต้องกักตัว 14 วันเท่าเดิม มีเงื่อนไขเดินทางเข้าประเทศเหมือนเดิม โดยระหว่างกักตัว ต้องตรวจหาเชื้อ 3 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 0-1 , วันที่ 6-7 และวันที่ 12-13
กรณีที่ 2 ในกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศที่ไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ ในกลุ่มชาวต่างชาติที่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือคนไทยที่ไม่มีเอกสารรับรองปลอดโควิด ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง จะเข้ากักตัว 10 วัน และตรวจหาเชื้อ 2 ครั้ง คือ ระหว่างวันที่ 3-5 และวันที่ 9-10
- ระยะที่ 3 จะเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.64 หากการฉีดวัคซีนเป็นไปตามแผนที่วางไว้ ผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย ไม่ต้องกักตัว โดยจะพิจารณาจากสถานการณ์การระบาดในประเทศและในต่างประเทศ รวมทั้งการได้รับวัคซีนภายในประเทศ ดังนี้
1.บุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรง ได้รับวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 70
2.ประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับธุรกิจท่องเที่ยว ได้รับวัคซีนครบตามเป้าหมายที่กำหนด
3.เปิดรับเฉพาะนักท่องเที่ยวจากประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำก่อน
ส่วนข้อเสนอการปรับมาตรการสำหรับสถานที่กักกัน จะแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ ช่วงวันที่ 1 เม.ย.-31 มิ.ย.64 และช่วงวันที่ 1 ก.ค.-30 ก.ย.64 โดยให้ผ่อนคลายการทำกิจกรรมต่างๆภายในสถานกักกัน เช่น การใช้ห้องฟิตเนส การออกกำลังกายกลางแจ้ง การว่ายน้ำ การซื้อสินค้าหรืออาหารจากภายนอก นวดเพื่อสุขภาพ การรับประทานอาหารในห้องอาหารของโรงแรม หรือการจัดประชุมสำหรับนักธุรกิจที่เข้ามาระยะสั้น โดยผู้กักตัวต้องเซ็นยินยอมรับความเสี่ยงกรณีมีการติดเชื้อ และให้โรงแรม โรงพยาบาล หรือเอกชน ต้องยินดีรับความเสี่ยงที่จะเกิดกับพนักงานที่เกี่ยวข้อง รวมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ เช่น การสอบสวนโรค การกักกันโรค การตรวจหาเชื้อ และการทำความสะอาด เป็นต้น รวมทั้งทุกกิจกรรมจะต้องยึดหลัก DMHTT หรือหลักปฏิบัติด้านสุขอนามัย ต้องทำความสะอาดอุปกรณ์ทุกชิ้นที่ใช้ในแต่ละกิจกรรม มีการลงทะเบียนทำกิจกรรม