!-- AdAsia Headcode -->

COVID-19 สามารถพบใน “น้ำตา - สารคัดหลั่งเยื่อบุตา” หากถูกผู้ป่วยไอหรือจามใส่ดวงตาโดยตรงปริมาณมาก มีโอกาสติดเชื้อได้

27 มีนาคม 2563, 14:38น.


            ในช่วงที่สถานการณ์ COVID-19 ยังคงแพร่ระบาดอยู่เช่นนี้ หลายคนเกิดความกังวลในเรื่องของการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดข้อสงสัยบางอย่างขึ้นมาว่านอกจากจมูก ปากแล้ว “ดวงตา” จะเป็นอีกช่องทางการที่สามารถรับเชื้อ COVID-19 ด้วยหรือไม่ แล้วโอกาสเกิดจะมีมากแค่ไหน ด้วยความห่วงใยจากจักษุแพทย์เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) จึงได้ออกมาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับการติดต่อของเชื้อ COVID-19 ผ่านทางดวงตา พร้อมแนะนำข้อปฏิบัติป้องกันการรับเชื้อเข้าสู่ร่างกาย เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับทุกๆ คน

            COVID-19 กับการติดต่อทางดวงตา


            แพทย์หญิงสายจินต์ อิสีประดิฐ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวว่า เชื้อ COVID-19 นี้ อาการจะคล้ายไข้หวัดใหญ่ ซึ่งไม่สามารถลอยอยู่ในอากาศได้ด้วยตัวมันเอง แต่จะอยู่ในสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูกหรือน้ำลายของผู้ป่วยที่ถูกไอหรือจามออกมา จึงสามารถแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ โดยการศึกษาวิจัยในประเทศจีน พบว่า ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ COVID-19 จะมีอาการตาแดงร่วมด้วยประมาณร้อยละ 0.8 เท่านั้น และมีการตรวจพบเชื้อไวรัสนี้ในน้ำตาและสารคัดหลั่งเยื่อบุตา

            สรุปแล้วจะสามารถติดต่อผ่านทางดวงตาได้หรือไม่?


            แพทย์หญิงดวงดาว ทัศณรงค์ จักษุแพทย์เชี่ยวชาญโรงพยาบาลเมตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) กล่าวชี้แจ้งเพิ่มเติมว่า เนื่องจากดวงตามีทางติดต่อกับโพรงจมูก โดยมีการระบายน้ำตาและสารคัดหลั่งเยื่อบุตาผ่านท่อระบายน้ำตาเข้าสู่โพรงจมูก ดังนั้น ถ้าได้รับเชื้อเข้าสู่ดวงตาในปริมาณที่มากพอ เช่น ถูกไอหรือจามใส่หน้าโดยตรงและมีสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัสชนิดนี้เข้าสู่ดวงตา ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่สารคัดหลั่งเหล่านี้จะถูกระบายเข้าสู่โพรงจมูก



            แต่ถ้าเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมปกติทั่วไปโอกาสที่จะมีไวรัสลอยเข้ามาสู่ดวงตา และระบายเข้าสู่เยื่อบุโพรงจมูกนั้นเป็นไปได้ต่ำมาก ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีรายงานการติดเชื้อผ่านทางดวงตาด้วย ส่วนการติดเชื้อจากการได้รับผ่านน้ำตาหรือสารคัดหลั่งเยื่อบุตาของผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 นั้น ถ้ามีการสัมผัสสารคัดหลั่งจากตาผู้ป่วย และนำเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจก็อาจมีโอกาสที่จะติดเชื้อได้

            
 ทั้งนี้ ยังได้แนะนำข้อปฏิบัติป้องกันรับเชื้อ COVID-19 เข้าสู่ร่างกาย ได้แก่



            - หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด หรือมีมลภาวะและไม่อยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยไอ จาม



            - เลือกรับประทานอาหารที่สะอาด ปรุงสุก ทั้งเนื้อสัตว์ไข่ และผักสด ผลไม้



            - หมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอด้วยน้ำและสบู่นานอย่างน้อย 20 วินาที หรือเจลแอลกอฮอล์ควรลูบจนกว่ามือจะแห้ง



            - ไม่นำมือมาสัมผัสตา จมูก ปาก โดยไม่จำเป็น



            - ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น (เช่น ผ้าเช็ดหน้า แก้วน้ำ ผ้าเช็ดตัว) ซึ่งนำไปสู่การติดเชื้อผ่านระบบทางเดินหายใจ



            - รักษาร่างกายให้อบอุ่นอยู่เสมอและนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ



             และหากมีความจำเป็นต้องเดินทางไปพื้นที่เสี่ยงต่างประเทศ เมื่อหลังเดินทางเข้าประเทศไทย ต้องกักตัวเองด้วย 14 วัน เพื่อสังเกตอาการ หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ และรีบไปพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทันที พร้อมทั้งแจ้งประวัติการเดินทาง เนื่องจากมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ปอดบวม และอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้ ใครมีข้อสงสัยเพิ่มเติม สอบถามได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422



 





 

X