!-- AdAsia Headcode -->

ออกกำลังเหนื่อย-เจ็บแน่นหน้าอก ต้องหยุดพักทันที! เสี่ยงหัวใจหยุดเต้น เสียชีวิต

18 กรกฎาคม 2561, 17:20น.


        ภาวะหัวใจหยุดเต้นคืออะไร?

        ศ. เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ ได้อธิบายไว้ในงานเสวนา “เมื่อหัวใจหยุดเต้น” โครงการส่งเสริมและป้องกัน คนไทยไม่ให้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ว่า “ภาวะหัวใจหยุด” คือ หัวใจห้องล่างซ้ายไม่สามารถส่งเลือดไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้จนทำให้มีอาการหมดสติในทันที (ทันทีในที่นี้หมายถึง 2-3 นาที) โดยภายใน 1-2 นาที คนไข้จะหายใจพะงาบ ๆ หายใจเฮือกใหญ่ หรือหยุดหายใจลง ภายใน 4-5 นาที สมองจะเริ่มตาย และในอีก 4-5 นาทีต่อมา สมองส่วนใหญ่จะตายหมด ดังนั้นถ้าฟื้นชีวิตหลัง 4-5 นาที โอกาสที่คนไข้จะกลับมาแม้ว่าจะสำเร็จแต่คนไข้จะพิการถาวร คือเป็นเจ้าชายหรือเจ้าหญิงนิทรา



        ภาวะหัวใจหยุดเต้นมีกี่แบบ

        ภาวะหัวใจหยุดเต้นมีทั้งหมด 4 แบบ ดังนี้

        แบบที่ 1 หยุดสนิท ไม่มีอะไรเต้น คลื่นไฟฟ้าเป็นเส้นตรง

        แบบที่ 2 หัวใจเต้นริก ๆ คือ คลื่นไฟฟ้าเต้นไม่เป็นสั่ง (สูง ๆ ต่ำ ๆ ) ซึ่งมันก็จะไม่มีเลือดที่จะพุ่งออกไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ได้ เพราะฉะนั้นคนไข้ก็จะหมดสติ

        แบบที่ 3 หัวใจเต้นเร็ว คือ คลื่นไฟฟ้าจะเต้นชัดเจน มีในลักษณะกว้าง (แต่ละเส้นจะไม่เหมือนกัน) หัวใจห้องล่างจะเต้นถี่ และไม่มีชีพจร

        แบบที่ 4 คลื่นหัวใจไฟฟ้ายังเต้นอยู่แต่หัวใจเต้นช้าและไม่มีชีพจร คือ เลือดไม่สามารถสูบฉีดเพื่อเอาไปเลี้ยงสมองได้ คนไข้ก็จะหมดสติ

        โดยภาวะหัวใจหยุดเต้นส่วนใหญ่เกิดจากภาวะหัวใจขาดเลือด (เส้นเลือดหัวใจตีบ)



        “ภาวะหัวใจขาดเลือด” แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่าเรามีภาวะนี้

        ศ. เกียรติคุณ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ กล่าวว่า อาการภาวะหัวใจขาดเลือด คือ เมื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ขึ้นบันได เดิน ออกกำลังกาย ฯลฯ แล้วมักจะมีอาการเจ็บแน่นข้างในอก บริเวณคอ คาง บริเวณหัวไหล่ร้าวลงมาตามแขน และบริเวณลิ้นปี่ โดยเราจะหยุดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ทันที ภายใน 10-20 วินาที ถ้าไม่ดีขึ้นให้รีบอมยาใต้ลิ้น และรีบโทร.1669 หลังอมยาเกิน 5 นาที แต่อาการยังไม่ดีขึ้นให้อมยาอีก 1 เม็ด แล้วพยายามพักกายใจ อย่าเครียด คิดมาก อาการก็จะทุเลาลงจนอยู่ในภาวะปกติ ทั้งนี้หากผู้ป่วยได้มีการกินยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว (ประเภทไวอาก้าร์) หรือมีอาการหน้ามืด เป็นลม ไม่ควรกินยาใต้ลิ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้จะมีความดันเลือดต่ำแล้ว หากกินยาอมใต้ลิ้นเข้าไปอีกจะทำให้ไปขยายหลอดเลือดมากกว่าเดิมจนอาจถึงแก่ชีวิตได้



        ถ้าไม่มีภาวะหัวใจขาดเลือดก็จะไม่เกิดอาการหัวใจหยุดเต้นขึ้น แต่ แต่ แต่!!! ถ้าเราเห็นผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น ล้มหมดสติ สิ่งที่ควรทำ คือ CPR หรือปั๊มหัวใจ โดยเร็วที่สุดนะคะ

        ความสำคัญของการทำ CPR หรือปั๊มหัวใจ

        การทำ CPR หรือปั๊มหัวใจ มีความสำคัญมาก เนื่องจากภาวะหัวใจหยุดเต้นสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน ทุกสถานที่ ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจเป็นคนใกล้ตัว คนในครอบครัว หรือคนที่เรารัก และการที่มัวแต่รอให้รถพยาบาลหรือหน่วยงานแพทย์มาถึงมันอาจจะสายเกินไปแล้วก็ได้ ดังนั้นการที่เราได้เรียนรู้การทำ CPR หรือปั๊มหัวใจมาก่อนจะเป็นประโยชน์อย่างมากที่สามารถช่วยเหลือคนใกล้ชิดของเราได้อย่างทันท่วงที เพราะทุกวินาทีมีค่ามากสำหรับการเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้น

        ขั้นตอนการทำ CPR หรือปั๊มหัวใจ

        1. ตรวจเช็คก่อนว่าสถานที่ตรงนั้นปลอดภัยไหม พร้อมประกาศเรียกขอความช่วยเหลือ โทร. 1669 (กทม. มีเบอร์เพิ่มเติม 1646) แจ้งว่าตอนนี้มีคนไข้หัวใจหยุดเต้น



        2. ปลุกเรียกโดยการตบไปที่บ่า 2 ข้างพร้อมกับเรียกผู้ป่วย



        3. เช็คการหายใจ สังเกตที่อกหรือท้องผู้ป่วย โดยจับที่หน้าผากเสยขึ้น มองเป็นแนวราบไปที่บริเวณอกหรือท้องของผู้ป่วยว่าขยับหรือไม่ โดยจะไม่นิยมให้จับสัญญาณชีพจรเพราะบางครั้งสิ่งที่เราจับได้อาจเป็นชีพจรของเราที่กำลังตื่นเต้นดังกว่าของผู้ป่วย



        4. หากไม่มีการขยับให้เริ่มทำการCPR ทันที โดยจะใช้ส้นมือวางกึ่งกลางหน้าอก (ราวนม) จากนั้นใช้อีกมือวางทับ ล็อคมือให้แน่น วางแขนให้ตรง ตั้งฉาก กดแรงลงไปให้อกยุบลง 5-6 เซนติเมตร (2-4 นิ้ว)โดยใช้จังหวะประมาณ 100-120 ครั้ง/นาที กดไปเรื่อย ๆ ประมาณ 30 ครั้ง (เทียบได้กับการเพลงสุขกันเถอะเรา, คุกกี้เสี่ยงทาย) หากกดช้าหรือเร็วกว่านี้โอกาสรอดจะมีน้อย



        5. ในกรณีที่เป็นญาติของเรา มั่นใจว่าไม่มีโรคติดต่ออะไร ก็ให้ทำการผายปอด โดยมือหนึ่งชายคางแล้วอีกมือหนึ่งก็บีบจมูก ผู้ที่ช่วยเหลือสูดหายใจเข้าลึกๆ เป่าปากผู้ป่วยให้อกกระเพื่อมขึ้น ทำทั้งหมด 2 ครั้ง หลังจากนั้นกลับมากดหน้าอกอีก 30 ครั้ง ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่ารถพยาบาลจะมาถึง หรือคนไข้ลุกขึ้นมาปัดมือเราได้



        6. ในกรณีที่คนไข้ไม่ใช่ญาติ หรือไม่มั่นใจว่าจะมีโรคติดต่อไหม ให้กดหัวใจไปเรื่อย ๆ ตามจังหวะประมาณ 2 นาที (200 ครั้ง) แล้วควรตรวจเช็คว่าผู้ป่วยมีลมหายใจหรือยัง ไม่ควรเช็คเกินว่า 10 วินาที หากยังไม่มีปฏิกิริยาใด ๆ ให้รีบกดต่ออีก 2 นาที ทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะมีรถพยาบาลมา



        ทุกนาทีของเราไม่ว่าจะไปไหนก็ตามล้วนมีโอกาสที่จะเจอผู้ป่วยที่หมดสติ หรือหยุดหายใจได้เสมอ สิ่งหนึ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ที่ได้เรียน ได้ฝึกฝน ลงมือปฏิบัติมาแล้ว หากต้องประสบพบเหตุจริง ๆ ก็อยากจะให้รีบเข้าไปช่วยเหลือในทันที อย่ารีรอ เพราะสองมือน้อย ๆ ของเราอาจช่วยเพิ่มโอกาสให้อีกหนึ่งชีวิตได้กลับมาสดใสขึ้นใหม่อีกครั้งก็เป็นได้

        รูปภาพ : salud180.com, evoke.ie, honestdocs.co, clinicaaveleira.com, lokwannee.com



 

X