!-- AdAsia Headcode -->

ย้อนรอย 23ปี 'เฮลิคอปเตอร์' ลงจอดบนทางด่วน ช่วยหญิงเจ็บท้องคลอดนำส่งรพ. ปัจจุบันเติบโตเป็นชายหนุ่มอนาคตไกล

23 มิถุนายน 2561, 14:00น.


      เรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงเมื่อ 23 ปีก่อน เป็นปฏิบัติการความร่วมมือการให้ความช่วยเหลือหญิงเจ็บท้องคลอด โดยนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดบนทางด่วนสุขุมวิท 62 เพื่อเคลื่อนย้ายว่าที่คุณแม่ท้อง 2 ไปส่งรพ.ตำรวจ ระหว่างที่สภาพการจราจรติดขัดอย่างหนัก ซึ่งภารกิจดังกล่าวถือว่าประสบความสำเร็จและเป็นที่ภาคภูมิใจของทุกคนที่อยู่ในเหตุการณ์ เป็นหน้า 1 ในแทบทุกหนังสือพิมพ์ขณะนั้น





      เหตุการณ์จริง 23 มิถุนายน พ.ศ. 2538 นายสมเกียรติ ทองใหม่ ชายคนหนึ่งในบทบาทของคุณพ่อวัย 33 ปี เป็นพนักงานบริษัททั่วไป หาเลี้ยงครอบครัวที่มีภรรยาท้องแก่ 8 เดือนอยู่ที่บ้าน โดยในช่วงเช้าของวันนั้นเขาขับรถจากบ้านย่านสมุทรปราการ เพื่อไปส่งลูกชายคนโตชั้น ป.2 ที่โรงเรียนภายในซอยลาซาลให้ทัน 7 โมงเช้า ก่อนที่เขาจะต้องรีบฝ่ารถติดไปทำงานในซอยอ่อนนุชเหมือนเช่นทุกวัน ทันใดนั้นขณะที่รถกำลังจะเคลื่อนออกจากหน้าโรงเรียน เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น และกึกก้องภายในความทรงจำของเขาไปตลอดชีวิต



      "ยุคนั้นการจราจรติดขัดอย่างมาก การสื่อสารก็ไม่ได้ดีเหมือนทุกวันนี้ ผมเป็นคนที่ต้องเปิดฟังการจราจรจากวิทยุ จส.100 โดยตลอด วันนั้นก็เช่นกัน ผู้ดำเนินรายการคือคุณอัจฉรา บัวสมบูรณ์ ตอนนั้นก็มีรายงานออกอากาศว่า มีผู้หญิงขอความช่วยเหลือเจ็บท้องใกล้คลอดมา 2 คนพอดี จส.100 ก็ประสานตำรวจช่วยอำนวยความสะดวกในการปล่อยสัญญาณไฟแดงให้ ขณะนั้นเวลา 09.00น. ภรรยาผมร้องไห้หนักมากด้วยความทุกข์ทรมาน ผมจึงตัดสินใจโทรศัพท์เข้าไปที่ จส.100 และได้แจ้งทางคุณอัจฉราว่า ตอนนี้อยู่ที่ถนนบางนาตราด การจราจรติดขัดมาก ภรรยาของผมเจ็บท้องมากและต้องการความช่วยเหลือด่วนมากๆ กำลังมุ่งหน้าขึ้นทางด่วนตรงสุขุมวิท 62 ในขณะที่กำลังคุยกันทางโทรศัพท์อยู่นั้น คุณอัจฉราก็ได้ยินเสียงกรีดร้องของภรรยาดังมากๆ ก็แนะนำเบื้องต้นโดยให้เอนเบาะให้ภรรยาอาจจะบรรเทาอาการเจ็บปวดได้บ้าง ระหว่างนี้ จส.100 จะหาทางช่วยเหลือให้เร็วที่สุด ให้เปิดสัญญาณไฟกระพริบเอาไว้ และจะโทรมาประสานเป็นระยะ"





      "หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที มีเจ้าหน้าที่ตำรวจขี่มอเตอร์ไซต์คันใหญ่ย้อนศรมาที่รถของผม ที่จอดรถติดขัดอยู่นิ่งๆ และบอกให้เปิดกระจกด้านข้างคนขับออก เพื่อให้อากาศถ่ายเท และให้ขับรถตามเขาไปเรื่อยๆ ตำรวจบีบแตรรถตลอดทางเพื่อให้รถที่จอดกีดขวางอยู่ให้พยายามหลีกทางจนกระทั่งมาถึงด่านสุขุมวิท 62 ตอนนั้นผมรู้สึกทรมานมากที่ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้นอกจากจะรีบขับรถตาม เมื่อผ่านด่านมาได้ประมาณ 500 เมตร ปรากฏว่าการจราจรติดขัดหยุดนิ่ง ไม่สามารถเคลื่อนรถไปต่อได้อีกแล้ว ในขณะที่ภรรยาก็ยังคงร้องขอความช่วยเหลืออยู่อย่างต่อเนื่อง"

      "..และแล้วสิ่งที่ผมไม่คาดคิดมาก่อนก็เกิดขึ้น รถมอเตอร์ไซด์ตำรวจคันเดิมขี่ย้อนศรกลับมาหาผม บอกให้มองที่กระจกหลัง และให้ถอยรถไปให้เร็วที่สุด ภาพที่ผมเห็นคือเฮลิคอปเตอร์ลำใหญ่จอดอยู่กลางถนนบนทางด่วน และเห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายสิบนายยืนอยู่รอบๆเฮลิคอปเตอร์ ผมก็รีบถอยรถไปอย่างเร็วที่สุดเพื่อเทียบกับเฮลิคอปเตอร์ ในใจของผมตอนนั้นบอกกับตัวเองด้วยความระทึกว่า งานนี้ไม่ใช่เรื่องเล็กๆแล้ว ผมแย่แน่ๆ นอกจากจะคิดไปถึงเรื่องความปลอดภัยของภรรยาและลูกที่กำลังจะคลอดออกมา ยังจะต้องมาเคลียร์เรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับเฮลิคอปเตอร์ที่มารับ น่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงอยู่พอสมควร ผมมีความวิตกอยู่มากในช่วงเวลานั้น เมื่อรถจอดเทียบ ผมก็รีบเปิดประตูรถลงมา ได้ยินเสียงใบพัดของเฮลิคอปเตอร์ดังมากๆ นี่คือเหตุการณ์ที่ระทึกใจมากๆ จากนั้นมีนายตำรวจท่านหนึ่งวิ่งเข้ามาช่วยผมประคองภรรยาซึ่งหมดสติอยู่ในตอนนั้น คงอ่อนเพลียมากจากความเจ็บปวดที่พยายามกลั้นไม่ให้ลูกคลอดออกมาเวลานั้น ผมได้ยินภรรยาของผมพูดตลอดนับครั้งไม่ถ้วนว่า 'ลูกอย่าพึ่งออกมา' จากนั้นทหารนายหนึ่งที่มากับเฮลิคอปเตอร์ต้องเสียสละที่นั่งแล้วลงมานั่งรถกับผม ส่วนภรรยาผมขึ้นเฮลิคอปเตอร์ไปกับนักบิน ช่วงเวลานั้นเป็นอะไรที่ชุลมุนวุ่นวายและรวดเร็วมากๆ ผมได้ยินเสียงนายตำรวจคนนี้สั่งการเยอะมากๆ ผมมองไปยังฝั่งตรงข้ามซึ่งเป็นการจราจรขาออก รถไม่สามารถเคลื่อนตัวไปได้เหมือนกัน เพราะเขาจอดรถดูกันหมด ผมมาทราบจากเพื่อนๆที่ขับรถอยู่ในขณะนั้น เพื่อนๆบอกว่าคิดว่าเป็นการถ่ายทำภาพยนตร์อยู่และคิดว่าจะต้องมีดาราดังมาปรากฏตัวแน่ๆ จึงจอดรถดูกันเยอะมาก และทำให้การจราจรติดขัดกันเป็นลูกโซ่หลายชั่วโมง เพราะผมเป็นต้นเหตุ"





      "หลังจากนั้นเฮลิคอปเตอร์ทะยานขึ้นท้องฟ้าไป ผมเองก็รีบขับรถเพื่อจะรีบมุ่งหน้าไปโรงพยาบาลตำรวจ แต่ก็ยังจะต้องเจอกับสภาพการจราจรที่ติดขัด เคลื่อนรถไปได้อย่างช้าๆและสนทนากับเพื่อนใหม่ที่เป็นนายทหารตลอดทาง ผ่านมา 10 นาที โทรศัพท์ผมดังขึ้นมา เมื่อผมรับสายก็ทราบว่าเป็นคุณอัจฉรา จส.100 และพูดกับผมว่า 'ขอแสดงความดีใจกับคุณพ่อคนใหม่ด้วยนะคะ ภรรยาของคุณปลอดภัย และลูกที่พึ่งคลอดออกมาเป็นบุตรชายนะคะ' ขณะนั้นเวลาประมาณ 10:00น. ผมดีใจจนน้ำตาไหล ทำได้เพียงกล่าวขอบคุณมากๆ ผมใช้เวลาในการเดินทางอีกประมาณ 40 นาทีกว่าจะถึงโรงพยาบาลตำรวจ และพบกับเหล่าสื่อมวลชนที่มารอทำข่าวโดยไม่ทันตั้งตัว เมื่อมาถึงห้องคลอดก็มีเจ้าหน้าที่พยาบาลเดินมาบอกว่า ผู้อำนวยการของรพ.ตำรวจ รวมถึงนายตำรวจและนายทหารกำลังรอพบผมอยู่ที่ห้องประชุม ผมก็เริ่มเครียดขึ้นมาอีกครั้ง คำถามวิ่งถาถมเข้ามาว่าผมจะชำระเงินอย่างไรในความช่วยเหลือครั้งใหญ่นี้ คงจะต้องเป็นเงินจำนวนมากแน่ๆ"





      "พอเดินเข้ามาที่ห้องประชุมของ รพ.ตำรวจ สิ่งที่ผมคิดไว้กลับไม่มีใครพูดถึง ทุกคนต่างเข้ามาแสดงความยินดี ผมเห็นรอยยิ้มทุกคนมีความสุข แต่ละท่านบอกว่านี่คือความสำเร็จร่วมกัน หลังจากที่ทุกภาคส่วนช่วยกันตัดสินใจที่จะนำเฮลิคอปเตอร์ลงจอดกลางทางด่วนช่วยคนได้อย่างปลอดภัย เจ้าหน้าที่ในวันนั้นผมจำได้แม่นทุกคน นายตำรวจที่อุ้มภรรยาผมขึ้นเฮลิคอปเตอร์คือ พ.ต.ท.วรรณรงค์ วงษ์ลี สารวัตรศูนย์รวมข่าวจราจร, นายทหารนักบินที่1 คือ ร.ท.อกนิษฐ์ จิตรณรงค์ เป็นนักบินที่ขับเฮลิคอปเตอร์มาส่งที่รพ.ตำรวจ และนักบินที่ 2 คือ ร.ท.มโน ต่างพันธ์ นั่งรถตามด้วยกันกับผม (ยศและตำแหน่งขณะนั้น) หลังจากสนทนากันสักระยะ ผมก็เริ่มถามสิ่งที่ผมเป็นกังวลมากๆก็คือเรื่องของค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น แต่สารวัตรเอ่ยขึ้นมาเป็นคนแรกว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น นี่คือการช่วยเหลือของหน่วยราชการและพวกเขาก็ดีใจมากที่ประสบความสำเร็จ" นายสมเกียรติ เล่าเหตุการณ์







      หลังภรรยานอนพักฟื้น 3 วัน นายสมเกียรติ ได้พาออกจากโรงพยาบาลพร้อมลูกชาย ไปกล่าวขอบคุณและมอบกระเช้าให้กับเจ้าหน้าที่ จส.100 ที่ห้องส่ง โดยมีคุณพิมพ์จันทร์ ทองจันทร์ เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งในวันนั้นได้เชิญชวนผู้ฟังร่วมกันตั้งชื่อเด็กเป็นสีสัน เนื่องจากมีผู้ฟังหลายคนอยู่ในเหตุการณ์ และติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ต้นจนจบ ในระหว่างสนทนาก็มีสายจาก ร.ท.อกนิษฐ์ จิตรณรงค์ นักบิน โทรเข้ามาและขอคุยด้วย ยังบอกว่ายังตื่นเต้นไม่หาย และเสนอว่าถ้าตนมีลูกชายจะขอตั้งชื่อว่า “คอปเตอร์“ นายสมเกียรติ ได้ยินเช่นนั้นจึงตกลงตั้งชื่อนั้นให้ลูกชายในทันที





      ปัจจุบัน 'คอปเตอร์' หรือนายกฤติน ทองใหม่ อายุ 23 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ โดยเรียนด้านภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล ตอนนี้ทำงานเบื้องหลังงานโฆษณา และมีแผนจะเรียนต่อปริญาโทอีกด้วย ซึ่งเจ้าตัวมีความตั้งใจว่า วันหนึ่งอยากสร้างภาพยนตร์จากเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงกับตน เพื่อถ่ายทอดถึงการช่วยเหลือที่ยิ่งใหญ่ในวันนั้น





      ทางด้าน พ.ต.อ.วรรณรงค์ วงษ์ลี อดีตรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการตำรวจจราจร ปัจจุบันเกษียณอายุราชการ เปิดเผยว่า ในวันเกิดเหตุจำได้ว่าเป็นเช้าวันศุกร์ที่การจราจรติดขัดมาก ยิ่งกว่ายุคนี้เสียอีก ตอนนั้นตรวจการจราจรอยู่เหนือถนนรามอินทรา คนละฝั่งกับจุดที่ขอความช่วยเหลือ ระหว่างนั้นก็ฟังผ่านวิทยุอยู่ พอได้ยินเสียงหญิงเจ็บท้องคลอดร้องเจ็บปวดเท่านั้นแหละ หันมามองหน้ากันกับนักบินทันที แล้วรีบบินไปตรวจการด้านนั้น มองไปทางไหนก็รถติดไปหมด รู้ในทันทีว่าต้องหาจุดลงช่วยเหลือแน่นอน เพราะรถคงไปไหนไม่ได้





      ขณะที่ พ.อ.อกนิษฐ์ จิตรณรงค์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าแผนกส่งกำลังและซ่อมบำรุงอากาศยานกองบินภาพถ่ายทางอากาศ กรมแผนที่ทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เปิดเผยว่า วันนั้นเป็นการตัดสินใจที่ยากมากๆ ใจจริงอยากให้รถไปจอดในโรงเรียนที่มีสนามฟุตบอล แต่ไม่ทันเพราะรถขึ้นมาบนทางด่วนแล้ว หารือกันอยู่นาน จนตัดสินใจใช้พื้นที่ทางเชื่อมหลังด่านจ่ายเงิน ซึ่งกว้างกว่าระหว่างทางบนทางด่วนที่มีเสาไฟจำนวนมากเป็นแนวยาว และในที่สุดก็ทำสำเร็จ ใช้เวลาไม่ถึง 5 นาที จากด่านสุขุมวิท62 ถึงรพ.ตำรวจ ถ.ราชดำริ เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่ประทับใจมากที่สุดในชีวิต





      "จริงๆในการตัดสินใจวันนั้นของทุกคน ทั้งทหาร ตำรวจ และจส.100 มีเป้าหมายเดียวกันคือการช่วยเหลือ สถานการณ์ในวันนั้นทุกคนยอมรับว่าเสี่ยงมาก เป็นเคสที่ยากและลำบากมากจริงๆ แต่เมื่อประเมินแล้วพื้นที่หลังด่านทางด่วนตรงนั้น มีความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะหาได้ ประกอบกับการที่นักบินของกองทัพบกทุกคนต้องผ่านการฝึกลงจอดในพื้นที่จำกัด เช่น ตามสันเขา หรือยอดเขา สิ่งที่ถูกฝึกและปลูกฝังมาทำให้มีความมั่นใจ ตอนนั้นใบพัดเฮลิคอปเตอร์อยู่ห่างจากเสาไฟทั้งซ้ายและขวาฝั่งละ 1 ฟุตเท่านั้น ต้องประคองเครื่องห้ามเซเด็ดขาด ต้องนิ่งและขึ้นลงตรงๆเท่านั้น ถ้าพลาดคงเกิดโศกนาฏกรรมครั้งใหญ่เพราะคนอยู่ตรงนั้นเยอะมากๆ" พ.อ.อกนิษฐ์ เล่าเหตุการณ์





      ปัจจุบันการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยด้วยเฮลิคอปเตอร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหตุการณ์ลักษณะดังกล่าวในเขตเมืองแทบจะไม่มีให้เห็นแล้ว อาจเป็นเพราะการติดต่อสื่อสารและระบบบริการทางการแพทย์ที่ดีขึ้น มีทางเลือกอื่นๆ เช่น ตำรวจจราจรโครงการพระราชดําริ ที่สามารถทำได้รวดเร็วเช่นกัน ปลอดภัยกว่า และไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้การช่วยเหลือครั้งนี้ เป็นหนึ่งในเหตุการณ์ที่น่าประทับใจและน่าจดจำมากที่สุด อย่างไรก็ตามการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยโดยเฮลิคอปเตอร์ ยังคงจำเป็นต้องใช้อยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร เดินทางด้วยรถยนต์ลำบาก และมีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต





      จส.100 ขอขอบคุณผู้ร่วมเหตุการณ์ครั้งนั้นทุกคน นับเป็นการร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือครั้งยิ่งใหญ่จนสำเร็จ และขอขอบคุณผู้ใช้รถขณะนั้นที่เสียสละเวลาให้การช่วยเหลือทำได้อย่างรื่น สุดท้ายสุขสันต์วันเกิด 'คอปเตอร์' 1 ใน 3 ของผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยเฮลิคอปเตอร์จาก จส.100





 

X