!-- AdAsia Headcode -->

“อัตวินิบาตกรรม” ของคนแก่..ป่วย..เครียด.. นำไปสู่เรื่องสูญเสีย

02 มีนาคม 2561, 18:55น.


    25 กุมภาพันธ์ 2561 ข่าวการทำ “อัตวินิบาตกรรม” ของอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค ในวัย 81 ปี เพราะเครียดจากอาการเจ็บป่วยทางร่างกายและปัญหาอื่นๆ รวมถึงไม่ต้องการเป็นภาระของลูกหลาน ทำให้เกิดคำถามขึ้นในสังคมว่า จริงหรือไม่ที่เมื่อความแก่เฒ่ามาเยือน  และอาการเจ็บป่วยตามวัยที่ไม่มีใครสามารถหลีกเลี่ยงได้ จะทำให้ลูกหลานรู้สึกว่า ท่านเหล่านี้เป็น “ภาระ” ที่จำเป็นต้องดูแล หรือจะเป็นผู้สูงอายุที่คิดมากไป  หรือนี่คือสัญญาณบ่งบอกถึง “โรคซึมเศร้า” โรคร้ายที่ค่อยๆ บั่นทอนกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ของคนที่เข้าสู่ “วัยชรา”

   กรณีของอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ ไม่ใช่ผู้สูงอายุคนแรกในปีนี้ที่ฆ่าตัวตายด้วยเหตุผลลักษณะนี้  



   เข้าสู่เดือนแรกของปี 2561 วันที่ 20 มกราคม 2561 นายนิพนธ์ ปิ่นดอกไม้ อายุ 56 ปี มีอาการเครียดจากปัญหาโรครุมเร้า ใช้อาวุธปืนลูกโม่ ขนาด.38  ยิงขมับตัวเองเสียชีวิตกลางบ้าน ด้วยเหตุผลกลัวจะทำให้คนที่บ้านลำบาก



                          (ภาพจาก : 
papermasters)

   ต่อมาใน วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เกิดเหตุสลดใจ เมื่อนายโต้ง (นามสมมติ) คุณตาวัย 72 ปี  ใช้สายเซฟตี้ผูกคอตัวเองกับกรงเหล็กข้างบ้าน เสียชีวิต เพราะน้อยใจที่ลูกหลานห้ามไม่ให้ดื่มเหล้า 



                          (ภาพจาก 
zeenews.india )

   วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2561 นางจีรวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 65 กระโดดลงมาจากชั้น 7 ของอาคารที่พัก สาเหตุจากความเครียดเนื่องจากป่วยเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย เหตุเกิดที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  



                                    (ภาพจาก : 
patch.com)

    และหลังเหตุการณ์อัตวินิบาตกรรมของ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค เพียง 2 วัน ใน วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 นางจรัสศรี หวังกิจไพศาล อายุ 77 ปี มีอาการโรคซึมเศร้า ใช้มีดแทงตัวเองเสียชีวิตต่อหน้าลูกสาว เนื่องจากเครียดกับอาการเจ็บป่วยของตัวเอง และสามี

  แค่ปีเดียว ก็มีคนฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 4 พันคน!!



                                (ภาพจาก : 
Indianexpress )

    ข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ประมาณการว่ามีผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,000 คนต่อปี และในจำนวนนี้ พบอยู่ในวัยทำงานมากเป็นอันดับ 1 และวัยสูงอายุ มากเป็นอันดับ 2 โดยสาเหตุการฆ่าตัวตายในผู้สูงอายุ 3 อันดับแรกคือ ความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด , โรคเรื้อรังทางกาย , และโรคซึมเศร้า ตามลำดับ 



                   
      (ภาพจาก : pinterest )

     ความจริงแล้วการจะสังเกตว่าบุคคลใกล้ตัวเรากำลังมีความเครียด หรืออยู่ในภาวะซึมเศร้าหรือไม่ อาจไม่ใช่เรื่องยาก เพราะส่วนใหญ่คนเหล่านี้จะมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม แต่คงจะดีกว่าถ้าเราจะสามารถป้องกันคนที่เรารัก ให้ห่างไกลจากปัจจัยที่จะนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้ ซึ่งแนวทางหนึ่งที่กรมสุขภาพจิต ได้แนะนำไว้คือ การสร้าง 3 ส.โดยย้ำว่า ปัญหาการฆ่าตัวตายนั้น สามารถป้องกันได้ต้องเริ่มต้นจากคนในครอบครัว...



                           
(ภาพจาก : youthservicesslc.wordpress )

   ส.1  การมีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน (Connect) นับเป็นสิ่งที่ทุกครอบครัวต้องมี แต่ควรระวังไม่ให้ความสัมพันธ์นั้นห่างเหินกันจนกลายเป็นคนแปลกหน้า หรือใกล้ชิดเกินจนกลายเป็นการก้าวก่ายความเป็นส่วนตัว 

   ส.2  มีการสื่อสารที่ดีต่อกัน (Communicate) การสื่อสารไม่ได้หมายถึงการพูดคุยกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงการแสดงออกด้วย การสบตา ยิ้มให้กัน จับมือ หรือโอบกอด ซึ่งจะช่วยสร้างกำลังใจในการมีชีวิตอยู่ให้แก่คนที่กำลังคิดฆ่าตัวตายได้ 

  ส.3 ใส่ใจซึ่งกันและกัน (Care) เพราะครอบครัวไม่ใช่แค่คนที่มีสายเลือดเดียวกันมาอยู่รวมกันเท่านั้น แต่หมายถึงคนที่พร้อมจะดูแล ให้ความช่วยเหลือเมื่อพบว่า คนใดคนหนึ่งกำลังมีปัญหา นอกจากนี้ การให้เวลากับคนในครอบครัว ทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ร่วมกันบ้าง ก็เป็นหนึ่งในการแสดงออกซึ่งความใส่ใจที่มีให้แก่กัน



                                    (ภาพจาก : ariix.com)

    แม้ไม่มีสิ่งใดรับประกันได้ว่า หากทำตามแนวทาง 3 ส. แล้ว จะไม่เกิดเหตุสลดใจขึ้นกับคนในครอบครัว หรือคนใกล้ชิด  แต่อย่างน้อยที่สุด หากต้องสูญเสียคนที่เรารักให้กับการฆ่าตัวตาย จะได้ไม่นึกเสียใจที่หลังว่า ถ้ารู้อย่างนี้ จะทำหรือไม่ทำอะไรเพื่อให้คนๆ นั้นยังมีลมหายใจอยู่...



  “จริงอยู่ที่วันหนึ่งคนเราต้องพบกับความตาย หากการตายตามอายุขัย ตายตามธรรมชาติ  ย่อมแตกต่างจากการปลิดชีวิตตัวเอง ซึ่งไม่ได้ทำให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป แต่คือการส่งต่อความทุกข์ทั้งหมดให้แก่คนที่ยังมีลมหายใจอยู่”



 



 


 


 



       





 



 


 


 
X