!-- AdAsia Headcode -->

รฟม. ร่วมกับ BEM เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุของระบบขนส่งสาธารณะทางราง ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 4

20 มกราคม 2561, 10:17น.


        วันที่ 20 มกราคม 2561 เวลา 00.30 น. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านการขนส่ง) นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวง (หัวหน้ากลุ่มภารกิจ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง) นางอัมพวัน วรรณโก ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม และนายสราวุธ ทรงศิวิไล ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม เข้าตรวจเยี่ยมการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุของระบบการขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ครั้งที่ 4 โดยมี นายฤทธิกา สุภารัตน์ รองผู้ว่าการ (บริหาร) รักษาการแทน ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) นายสมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) คณะผู้บริหาร รฟม. และ BEM เจ้าภาพในการจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ให้การต้อนรับ ณ ชั้นชานชาลาสายสีน้ำเงิน สถานีรถไฟฟ้าเตาปูน เขตบางซื่อกรุงเทพมหานคร







       การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ดังกล่าว สืบเนื่องมาจากบันทึกความร่วมมือเพื่อเผชิญเหตุตามแผนบริหารความเสี่ยงและแผนเผชิญเหตุของระบบขนส่งสาธารณะทางรางในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานในสังกัด รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 13 หน่วยงาน ได้ลงนามร่วมกันเมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2559 ณ อาคารสโมสร กระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงเจตนารมณ์ที่จะร่วมกันแก้ไขปัญหาจากเหตุการณ์กรณีเกิดเหตุขัดข้องทางเทคนิคของระบบขนส่งสาธารณะทางราง ตลอดจนประสานงานแก้ไขและบรรเทาเหตุการณ์อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยยึดแนวทางตามคู่มือแผนเผชิญเหตุฯ และกำหนดให้ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า MRT  BTS และ Airport Rail Link หมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมแผน   เผชิญเหตุฯ เป็นประจำทุก 4 เดือน ซึ่งครั้งนี้ได้จัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้ BEM ผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้า MRT สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) และสายฉลองรัชธรรม (สายสีม่วง) ในความรับผิดชอบของ รฟม. เป็นเจ้าภาพจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ และมีคณะผู้เข้าร่วมฝึกซ้อมจาก ฝ่ายรักษาความปลอดภัยและกู้ภัย รฟม. ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม (ศปภ.คค.) สำนักงานรักษาความปลอดภัย (สปภ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (รฟฟท.) บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) รวมถึงผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์จากหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง





        โดยคณะผู้ฝึกซ้อมได้เข้าร่วมฝึกซ้อมการจัดการเหตุการณ์เสมือนจริง กรณีรถไฟฟ้าติดค้างในเส้นทางหลัก เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้าขับเคลื่อน เวลาประมาณ 17.30 น. (เวลาสมมติ) เกิดมีเหตุขัดข้องคือ สถานีไฟฟ้าย่อยขับเคลื่อน (Traction Substation) ที่สถานีบางซื่อและสถานีกำแพงเพชร เกิด Breaker Trip ทำให้ไม่มีกระแสไฟฟ้าจ่ายเข้ารางที่ 3 ส่งผลให้รถไฟฟ้า 1 ขบวนที่กำลังเข้าสถานีเตาปูน ต้องหยุดก่อนเข้าสถานีเป็นระยะทางประมาณ 50 เมตร ประกอบกับมีผู้โดยสารติดอยู่ในขบวนรถเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะผู้ฝึกซ้อมได้มีการรายงานเหตุตามลำดับขั้น ติดตามประเมินสถานการณ์ และปฏิบัติการแก้ไขเหตุการณ์เสมือนจริง กล่าวคือ เมื่อศูนย์ควบคุมปฏิบัติการเดินรถ (Central Control Room: CCR) รับทราบเหตุและประเมินสถานการณ์แล้ว ว่าจะใช้เวลากอบกู้เป็นเวลานาน จึงได้มีคำสั่งอพยพผู้โดยสารลงรางเพื่อเดินทางเข้าสู่สถานีเตาปูน







        เหตุการณ์สมมติ รถไฟฟ้าติดค้างในเส้นทางหลัก เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้าขับเคลื่อน ซึ่งส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการให้บริการมากกว่า 15 นาที และต้องมีการอพยพผู้โดยสารนี้ จัดเป็นเหตุการณ์เสี่ยงในระดับ 2 (เหตุการณ์ขั้นรุนแรง) จากระดับ 0 - 3 ตามที่ระบุไว้ในคู่มือแผนเผชิญเหตุฯ ซึ่งนอกเหนือจากวิธีดำเนินการแก้ไขตามคู่มือปฏิบัติของหน่วยงานผู้ให้บริการแล้ว จะต้องมีการรายงานสถานการณ์ทั้งในสภาวะที่เกิดเหตุจนกระทั่งกลับสู่สภาวะปกติไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย กสทช. กรมประชาสัมพันธ์ จส.100 สวพ.91 เพื่อประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ประชาชนทราบต่อไป และรายงานต่อ ศปภ.คค. เพื่อพิจารณานำรายงานผู้บริหารและประสานงานหน่วยงานสนับสนุน ได้แก่ กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) (สนับสนุนการเคลื่อนย้ายผู้โดยสาร) และกองบัญชาการตำรวจจราจร (อำนวยความสะดวกจราจร) ทั้งนี้ สำหรับเหตุการณ์เสี่ยงในระดับอื่นๆ ได้มีการกำหนดคำจำกัดความ รวมถึงโครงสร้างการประสานงานที่แตกต่างกันไป เพื่อให้หน่วยงานสามารถจัดการแก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับระดับเหตุการณ์นั้นๆ 

ระดับเหตุการณ์ 

ระดับ 0 - ไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถหรือเกิดความล่าช้าไม่เกิน 5 นาที ตัวอย่างสถานการณ์ 

     - ผู้โดยสารเป็นลมภายในรถไฟฟ้า

     - ประตูรถไฟฟ้าขัดข้องที่ใช้เวลาแก้ไขไม่เกิน 5 นาที

ระดับ 1 (เหตุการณ์ขั้นต้น) เกิดความล่าช้า 5 - 15 นาที หรือมีการขนถ่ายผู้โดยสารออกจากขบวนรถ ตัวอย่างสถานการณ์

     - ประตูรถไฟฟ้าขัดข้อง ใช้เวลาแก้ไขเกิน 5 นาที

     - ประตูกั้นชานชาลาขัดข้อง

ระดับ 2 (เหตุการณ์ขั้นรุนแรง) เกิดความล่าช้าเกิน 15 นาที และ/หรือมีการใช้แผนการเดินรถไม่เต็มรูปแบบ มีการอพยพ ปิดทางวิ่งบางส่วน ปิดสถานีบางสถานี และมีผู้โดยสารตกค้างจำนวนมาก ตัวอย่างสถานการณ์

- ประแจสับรางขัดข้อง

- ระบบอาณัติสัญญาณบกพร่อง

ระดับ 3 (เหตุการณ์ขั้นวิกฤต) หยุดให้บริการ ตัวอย่างสถานการณ์

     - ไฟฟ้าดับ 2 แหล่งจ่าย เป็นเวลานาน







        การฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ครั้งที่ 4 นี้ ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีอันเป็นผลจากความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง และสำหรับการจัดการฝึกซ้อมแผนเผชิญเหตุฯ ครั้งต่อๆ ไป ผู้ประกอบการเดินรถไฟฟ้า BTSC และ รฟฟท. จะรับช่วงต่อจาก BEM ในการเป็นเจ้าภาพ โดยสามารถติดตามรายละเอียดและข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ รฟม. www.mrta.co.th และเฟซบุ๊คแฟนเพจ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ Call Center รฟม. โทร. 0 2716 4044

X