ทันสถานการณ์โลก 06.30 น. วันจันทร์ที่ 6 เมษายน 2563

06 เมษายน 2563, 06:11น.


‘3เอ็ม’ ขอผลิตหน้ากากให้พอใช้ในสหรัฐฯ และส่งออกด้วย



           บริษัท3เอ็ม ผู้ประกอบการด้านความปลอดภัยในวงการอุตสาหกรรมและการแพทย์ ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองเมเปิ้ลวู้ด ในรัฐมินนิโซตา สหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ยินดีปฏิบัติตามคำสั่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐฯ ภายใต้กฎหมายการผลิตเพื่อป้องกัน ฉบับปี 2493 ทำให้รัฐบาลกลางมีอำนาจมากขึ้นในการควบคุมการผลิตสินค้าของ 3เอ็ม สิ่งที่ทุกฝ่ายต้องการมากที่สุดในเวลานี้ คือหน้ากากเอ็น 95 และชุดป้องกันทางการแพทย์



           บริษัท 3 เอ็ม ยืนยันเดินหน้าผลิตหน้ากากเอ็น 95 ในระดับ "มากที่สุดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน" เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการภายในประเทศ ที่กำลังเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19)  ตัวเลขผู้ติดเชื้อจากสถาบันจอนห์ ฮอปกิ้น รายงานเมื่อประมาณ 05.43 ว่า สหรัฐฯ มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 331,234 คน เสียชีวิต 9,562  ราย  



           ปัจจุบัน 3เอ็มและผู้ผลิตหน้ากากอนามัยอีกหลายแห่งของสหรัฐฯ สามารถผลิตหน้ากากเอ็น95 ได้รวมกันประมาณเดือนละ 50 ล้านชิ้น ขณะที่ กระทรวงสาธารณสุขสหรัฐฯ ประเมินว่า บุคลากรการแพทย์ในประเทศต้องใช้หน้ากากรุ่นดังกล่าวมากถึงเดือนละ 300 ล้านชิ้น



           กรณีที่ผู้นำสหรัฐฯ ขอให้บริษัทหยุดการส่งออกหน้ากากอนามัยไปต่างประเทศ โดยเฉพาะแคนาดาและกลุ่มประเทศในลาตินอเมริกา มองว่า จะทำให้เกิดประเด็นด้านมนุษยธรรม ยังอาจส่งผลกระทบย้อนกลับมาที่สหรัฐฯ เพราะหน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ป้องกันทางการแพทย์สำหรับใช้งานในประเทศอาจยิ่งขาดแคลน



อินเดีย ควบคุมการส่งออกชุดตรวจไวรัสโควิด-19



           สถานการณ์โควิด -19 ที่อินเดีย พบว่า จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สะสมในประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 3,588 คน เสียชีวิต 99 ราย ทำให้ทางการอินเดียใช้หลายมาตรการในการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาด ล่าสุด อินเดีย ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกชุดตรวจวินิจฉัยโรคเกือบทั้งหมด



           ก่อนหน้านี้ สั่งห้ามส่งออกยารักษาโรคบางรายการ เครื่องช่วยหายใจ หน้ากากอนามัยและอุปกรณ์ปกป้องร่างกายจากเชื้อโรค ที่ทั้งคนไข้และบุคลากรทางแพทย์จำเป็นต้องใช้ แม้ว่า ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้โทรศัพท์พูดคุยกับนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ให้ยอมจำหน่ายยารักษามาลาเรีย ไฮดรอกซีคลอโรควิน ซึ่งกำลังมีการทดสอบว่ามีความเป็นไปได้ในการรักษาคนไข้โรคโควิด-19 ก็ตาม



สิงคโปร์ แจกหน้ากากผ้าให้ประชาชน



          ชาวสิงคโปร์ เดินทางไปที่สำนักงานพัฒนาชุมชนและคณะกรรมการชุมชนทั่วประเทศ เพื่อลงทะเบียนรับหน้ากากผ้าจากรัฐบาล ที่จะเริ่มแจกจ่ายตั้งแต่วันที่ 12 เม.ย.นี้เป็นต้นไป ถือเป็นครั้งที่ 2 ภายในระยะเวลา 2 เดือน ที่รัฐบาลสิงคโปร์แจกหน้ากากอนามัยให้ประชาชน ท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อโรคโควิด-19 หลังจากที่ปลายเดือนม.ค. รัฐบาลแจกหน้ากากอนามัยให้ครัวเรือนละ 4 ชิ้นเมื่อปลายเดือนม.ค.



          สถานการณ์ที่สิงคโปร์ พบผู้ป่วยติดเชื้อวันเดียวมากถึง 120 คน ยอดผู้ป่วยสะสม 1,309 คน เสียชีวิต 6 ราย ทำให้ นายกรัฐมนตรีลี เซียน ลุง เพิ่มมาตรการมากขึ้น กำชับให้ประชาชนเก็บตัวอยู่ในที่พักอาศัย และหลีกเลี่ยงออกจากบ้าน เว้นแต่จะมีความจำเป็นจริงๆ



-สั่งปิดธุรกิจห้างร้านต่างๆ ชั่วคราว ตั้งแต่วันอังคารนี้เป็นต้นไป ยกเว้นเฉพาะบริการที่มีความจำเป็น เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงพยาบาล



-ขณะที่ โรงเรียนทั่วสิงคโปร์ ก็จะปิดการเรียนการสอน



-สถานประกอบการและสถานที่ท่องเที่ยวให้ปิดชั่วคราว ระหว่างวันที่ 7 เม.ย. ถึง 4 พ.ค. ยกเว้นร้านอาหาร ร้านขายยา คลินิก และผู้ให้บริการระบบขนส่งสาธารณะและด้านสาธารณูปโภค



บุคลากรการแพทย์อิตาลี ติดโควิด-19 กว่า 10,000 คน



          บุคลากรทางการแพทย์อิตาลีติดโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 11,000 คน หรือเกือบร้อยละ 10 ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งหมดเสียชีวิตไปแล้ว 73 ราย ส่วนแพทย์ติดเชื้อไปแล้ว 19 คน เนื่องจากไวรัสระบาดในช่วงเกิดไข้หวัดธรรมดา ทำให้แยกไม่ออกในช่วงแรก นับว่าสูงกว่าอัตราการติดเชื้อของบุคลากรทางทางการแพทย์ของจีน



          ก่อนหน้านี้  หน่วยงานการแพทย์ของอิตาลี ระบุสาเหตุที่มีบุคลากรทางการแพทย์ในอิตาลีป่วยด้วยโรคโควิด-19 เนื่องจาก ปัจจุบันแพทย์และพยาบาลมีอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อไม่เพียงพอ ส่วนใหญ่ใส่เพียงหน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลอิตาลีเร่งจัดหาอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อให้กับเจ้าหน้าที่ เพราะหากสถานการณ์เลวร้ายกว่านี้ บรรดาบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อโควิด-19 อาจต้องทำงานต่อ โดยที่มีเครื่องป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อให้คนอื่น สถานการณ์ในอิตาลี มีผู้ป่วยติดเชื้อ 128,948 คน เสียชีวิตแล้ว 15,887 ราย 



ผู้ป่วย "โควิด-19" ในเวียดนาม มีประวัติโยงถึงไทย



          กระทรวงสาธารณสุขของเวียดนาม ออกแถลงการณ์ยืนยันผู้ติดเชื้อโควิด-19 คนที่ 240 เป็นหญิงอายุ 29 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดบั๊กซาง ทางตอนเหนือของประเทศ อาศัยและทำงานอยู่ที่ประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 มี.ค.เดินทางกลับมาที่กรุงฮานอยด้วยเที่ยวบินวีเอ็น618 ของเวียดนาม แอร์ไลน์ส



          ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของ “ผู้ป่วยคนที่ 240” ก่อนที่จะป่วยไม่สบาย รวมถึงการที่ก่อนเดินทางจากไทยกลับมาที่เวียดนามเพียงวันเดียวคือวันที่ 19 มี.ค. เธอร่วมรับประทานอาหารกับหญิงชาวเวียดนามอายุ 25 ปี ซึ่งเดินทางกลับเวียดนามก่อนผู้ป่วยคนที่ 240 และได้รับการยืนยันผลตรวจเป็นบวกจากโรคโควิด-19 ในฐานะ “ผู้ป่วยคนที่ 166”



ส่งนายกฯอังกฤษเข้าร.พ.ตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19



          นายบอริส จอห์นสัน วัย 55 ปี นายกรัฐมนตรีอังกฤษ มีอาการของโรคไวรัสโควิด-19 มีอาการเพียงเล็กน้อยและพักรักษาตัวอยู่ภายในทำเนียบนายกรัฐมนตรี เลขที่ 10 ถนนดาวนิ่ง เป็นเวลา 7 วัน แต่ล่าสุดอาการกลับมีไข้สูง ทำเนียบนายกรัฐมนตรีอังกฤษ แถลงว่า แพทย์แนะนำให้นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เข้าโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 นายกรัฐมนตรีจอห์นสัน เป็นผู้นำระดับโลกคนแรกที่ติดเชื้อไวรัส ส่วนคู่สมรสของเขาที่กำลังตั้งครรภ์ แคร์รี่ ไซมอนด์ส ก็มีอาการป่วยมาหนึ่งสัปดาห์แล้ว แต่ดีขึ้นเป็นลำดับ



          ขณะที่นายแมตต์ แฮนคอก รัฐมนตรีสาธารณสุขของอังกฤษ กลับไปทำงานได้แล้วเมื่อวันศุกร์ หลังกักตัวเองอยู่ 1 สัปดาห์เพราะมีอาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19เช่นกัน



นายกฯเยอรมนี กลับมาทำงานแล้ว ครบกักตัว 2 สัปดาห์



          นางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี กลับมาทำหน้าแล้ว หลังครบกำหนดกักตัว 2 สัปดาห์ นางแมร์เคิล เข้ารับการตรวจสอบว่าป่วยเป็นโรคโควิด-19 หรือไม่ถึง 3 ครั้งด้วยกัน ผลการตรวจออกมาเป็นลบทั้งหมด นางแมร์เคิล ได้เริ่มกักตัวมาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. หลังได้รับแจ้งว่า แพทย์ที่มาฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบให้เธอเมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีผลตรวจไวรัสโควิด-19 เป็นบวก ทั้งนี้ ระหว่างการกักตัว ผู้นำเยอรมนีได้จัดการประชุมรัฐบาลผ่านทางระบบวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์



 

ข่าวทั้งหมด

X