แพทย์เผย 4 แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เตรียมประชุมปรับแนวทางรักษาอีกครั้งพรุ่งนี้

05 เมษายน 2563, 14:21น.


          แนวทางการดูแล-รักษา ประชาชนที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า การรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสในไทยนั้นมีการพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาไปตามผลการศึกษาวิจัยจากทั่วโลก ซึ่งในรอบเดือนที่ผ่านมาได้เปลี่ยนแนวทางไปแล้ว 2 ครั้ง โดยพรุ่งนี้จะมีการประชุมกับผู้เชี่ยวชาญอีกครั้งเพื่อดูว่าแนวทางการรักษาและผลการรักษาในประเทศจะมีการปรับเปลี่ยนอย่างไร


          สำหรับอาการของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสฯของไทย 


-ส่วนใหญ่จะเป็นอาการที่ไม่ค่อยรุนแรง 


-ร้อยละ 20 ไม่ค่อยแสดงอาการอาการ 


-ร้อยละ 60 อาการไม่รุนแรง ซึ่งมีอาการเหมือนไข้หวัดปกติ 


-ร้อยละ 10 ปอดอักเสบไม่รุนแรง 


-ร้อยละ 3 ปอดอักเสบรุนแรง 


          โดยแบ่งผู้ป่วยตามอาการ 4 กลุ่ม ดังนี้ 


-กลุ่มไม่ค่อยแสดงอาการร้อยละ 20 จะนำส่งรักษาในโรงพยาบาลเพื่อสังเกตอาการอย่างน้อย 7 วัน หากอาการดีขึ้น เอ็กซเรย์ปอดเป็นปกติ แพทย์จะส่งตัวไปพักต่อที่โรงแรมสนาม เพื่อประหยัดเตียงของโรงพยาบาล ซึ่งโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพฯมี 3 แห่ง คือโรงแรมสังกัดกรมการแพทย์ดูแล ปริ้นส์ตั้น เขตดินแดง มี 270 ห้อง, หอพักมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต 380 ห้อง, โรงแรมแถวจุฬาฯประมาณ 40 ห้อง


-กลุ่มอาการไม่รุนแรง แพทย์จะมีการให้ยาต้านไวรัส ไม่ใช่ฟาวิพิราเวียร์ ระยะเวลาการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วแต่อาการของแต่ละคน แต่หากอาการดีขึ้นก็จะย้ายไปพักรักษาที่โรงพยาบาลสนาม 14 วัน หรืออาการดีขึ้นหายขาด หลังจากนั้นถึงจะให้กลับไปดูแลตัวเองที่บ้านให้ครบ 1 เดือน


-กลุ่มปอดอักเสบไม่รุนแรง แพทย์จะพิจารณาให้ยาต้านไวรัส แต่ยังไม่ให้ยาต้านไวรัสชนิดฟาวิพิราเวียร์ แต่หากอาการเริ่มไม่ดีขึ้นเข้าขั้นวิกฤตถึงจะพิจารณาให้ยาต้านไวรัสชนิดฟาวิพิราเวียร์ ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้จะพักรักษาในโรงพยาบาลและจะไม่มีการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม


-กลุ่มอาการรุนแรงแพทย์จะพิจารณาให้ยาทุกตัว ตามอาการที่เกิดขึ้น และให้รักษาในโรงพยาบาลจนหายขาด จะไม่มีการย้ายไปรักษาที่โรงพยาบาลสนาม


          ทั้งนี้ การใช้ยาต้านไวรัสชนิดฟาวิพิราเวียร์บางวันใช้เยอะมากถึง 2,000 เม็ด โดยปัจจุบันการใช้ยาชนิดนี้ใน 5-10 วัน จะใช้ยา 70 เม็ดต่อผู้ป่วย 1 คน ดังนั้นแนวทางการรักษาตอนนี้ 1 เดือน ใช้ยา 50,000 - 60,000 เม็ด แต่ในวันพรุ่งนี้จะมีการประชุมกับคณะผู้เชี่ยวชาญ ว่าจะให้ยาชนิดนี้กับผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบไม่มากด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นการพิจารณาใช้ยารักษาในทางที่ง่ายขึ้น


 


          อย่างไรก็ตามการจัดหาและบริหารยาต้านไวรัสชนิดฟาวิพิราเวียร์ นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ -30 มีนาคม มีการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ทั้งซื้อจากประเทศญี่ปุ่น และรับบริจาคจากประเทศจีน รวม 87,000 เม็ด ใช้รักษาผู้ป่วยไปแล้วกว่า 48,875 เม็ด คงเหลืออยู่ 38,126 เม็ด และในคลังกลาง 11,700 เม็ด มีเป้าหมายจัดหาเพิ่มอีก 350,000 เม็ด ซึ่งมีการสั่งซื้อจากจีน 100,000 เม็ด จะได้รับยาชนิดนี้ในวันที่ 6 เมษายนนี้ และสั่งจากญี่ปุ่นไปแล้วอีก 100,000 เม็ด


          ส่วนกรณีมีกระแสข่าวว่าประเทศญี่ปุ่นจะบริจาคยาต้านไวรัสชนิดฟาวิพิราเวียร์ แล้วเหตุใดไทยจึงต้องซื้อ ขอชี้แจงว่า ประเทศญี่ปุ่นจะให้ยาเฉพาะประเทศที่จะร่วมศึกษาวิจัย จึงไม่ใช่การบริจาคเพราะรักษาคนไข้โดยทั่วไป โดยยาชนิดนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยจากทั่วโลกและการวิจัยยาชนิดนี้ยังไม่นิ่ง แต่ไทยก็พยายามดูว่าทั่วโลกใช้ยาอะไรบ้าง ซึ่งมีการบันทึกว่าเคยใช้รักษาได้จริง ไทยจึงนำมาไว้ในสูตรการรักษา และนำยาชนิดนี้ไปรักษาผู้ป่วย


...
ข่าวทั้งหมด

X