ธนาคารโลก เรียกร้องเอเชียแปซิฟิก เร่งออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อถึงปีหน้า

31 มีนาคม 2563, 16:06น.


          ธนาคารโลก เผยแพร่รายงาน ระบุว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกในปีนี้จะชะลอตัวอยู่ที่ระดับร้อยละ 2.1 ขณะที่อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจจีน จะชะลอตัวลงจากร้อนละ 6.1 ในปีที่แล้วลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.3 ซึ่งจะเป็นระดับที่ต่ำที่สุดในรอบ 44 ปีแต่ก็ยังมีความเป็นไปได้ที่การเติบโตทางเศรษฐกิจอาจลดลงไปถึงร้อยละ 0.1 ในกรณีที่สถานการณ์เลวร้ายที่สุด ทั้งคาดการณ์ว่าการระบาดใหญ่อาจยืดเยื้อต่อไปจนถึงปี 2564 โดยผลกระทบทางเศรษฐกิจจะเกิดขึ้นกับทุกประเทศเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ระดับของความเสียหายจะขึ้นอยู่กับความเปราะบางของอุตสาหกรรมแต่ละประเภท



          ก่อนหน้านี้ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าประชาชนเกือบ 35 ล้านคนในภูมิภาคนี้จะหลุดพ้นจากความยากจนในปีนี้ แต่จากสถานการณ์ของโรคระบาดใหญ่ คาดว่าจะมีประชาชนประมาณ 24 ล้านคนที่หลุดพ้นจากความยากจน (จากเส้นแบ่งความยากจนที่รายได้น้อยกว่า 5.50 ดอลลาร์สหรัฐฯ/วัน)



          ธนาคารโลก จึงขอให้ประเทศต่าง ๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เร่งออกมาตรการทางเศรษฐกิจมหภาค และระเบียบทางการเงิน โดยเฉพาะการลดหย่อนสินเชื่อและบรรเทาหนี้ภาคครัวเรือน ควบคู่ไปกับการเพิ่มการลงทุนเพื่อเพิ่มความสามารถทางสาธารณสุข มีความร่วมมือเพื่อเพิ่มการผลิตสินค้า และบริการให้เพียงพอต่อความต้องการ



          นางวิคตอเรีย กวากวา รองประธานธนาคารโลกประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออก และแปซิฟิก กล่าวว่า หลายชาติในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งเผชิญกับภาวะความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศและการระบาดของไวรัสโควิด-19 กำลังเผชิญกับภาวะชะงักงันระดับโลก ข่าวดีก็คือภูมิภาคนี้ยังคงมีจุดแข็ง แต่บางประเทศจำเป็นต้องมีมาตรการรับมืออย่างรวดเร็วและเข้มข้นกว่าที่เคยประเมินไว้ก่อนหน้านี้ โดยยกตัวอย่าง อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยและกลุ่มหมู่เกาะในมหาสมุทรแปซิฟิก และกลุ่มภาคการผลิตในเวียดนามและกัมพูชา



          สำหรับมุมมองของธนาคารโลกต่อเศรษฐกิจของไทย ซึ่งมีปัญหามาตั้งแต่ปีที่แล้ว เนื่องจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน ความไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และภัยแล้ง กดดันให้เศรษฐกิจไทยในปีที่แล้วขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมาย ต่อเนื่องมาถึงปีนี้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนเกือบร้อยละ 16 ของจีดีพี ก็มีจำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างมาก ซึ่งเป็นผลจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักลงทุนลดลงต่ำสุดในรอบ 5 ปี ส่วนตลาดหลักทรัพย์ของไทยนักลงทุนเทขายหุ้นออกมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้การซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของไทยลดลงถึงร้อยละ 30.8



....

ข่าวทั้งหมด

X