ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้ 07.30 น.วันพุธที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563

26 กุมภาพันธ์ 2563, 07:21น.


สทนช.เปิดเวทีแจงข้อมูลการสร้าง ‘เขื่อนหลวงพระบาง’ ครั้งสุดท้าย



          สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) นายประดับ กลัดเข็มเพชร รองเลขาธิการสทนช. กล่าวว่า โครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง นับเป็นโครงการลำดับที่ 5 ที่ สปป.ลาว มีแผนจะก่อสร้างบนแม่น้ำโขงสายประธาน ต่อจากโครงการไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี โครงการไฟฟ้าพลังน้ำดอนสะโฮง โครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากแบงและโครงการไฟฟ้าพลังน้ำปากลาย ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นประเด็นที่ภาคประชาชนและประชาสังคมให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะจังหวัดที่มีพื้นที่ติดแม่น้ำโขงของไทยทั้ง 8 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อุบลราชธานี อำนาจเจริญ เลย และเชียงราย ซึ่งประเทศไทยเป็น 1 ใน 4 ประเทศ สมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ที่อยู่ในลุ่มแม่น้ำโขงตอนล่าง คือ กัมพูชา สปป.ลาว ไทย และเวียดนาม ทั้งนี้ รัฐบาล 4 ประเทศ ได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 โดยมีข้อตกลงที่จะใช้น้ำของระบบลุ่มน้ำโขงอย่างสมเหตุสมผลและเป็นธรรม หากมีการนำน้ำจากแม่น้ำโขงมาใช้ภายในลุ่มน้ำหรือผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ จะต้องดำเนินการตามระเบียบปฏิบัติ



          ดังนั้น สทนช. ในฐานะสำนักเลขาธิการคณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย (Thai National Mekong Committee: TNMC) ทำหน้าที่เป็นหน่วยประสานงานภายใต้กรอบความร่วมมือ MRC ได้กำหนดจัดเวทีให้ข้อมูลโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง สปป.ลาว ภายในประเทศ จำนวน 3 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ 8 จังหวัดริมแม่น้ำโขง ครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2562 ที่จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2 จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2563 ที่จังหวัดอำนาจเจริญ และครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้ายที่จังหวัดเลย โดยเชิญผู้เข้าร่วมประกอบด้วย ผู้แทนภาคประชาชนพื้นที่ริมแม่น้ำโขงจากจังหวัดเลยและเชียงราย กลุ่มผู้ใช้น้ำแม่น้ำโขงเพื่อการเกษตรและประมง ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจากส่วนกลางและในพื้นที่ และภาคประชาสังคม รวมกว่า 80 คน



         หลังจากนี้ สทนช. จะเร่งสรุปประเด็นประเด็นที่มีความกังวลต่อผลกระทบสะสมและข้ามพรมแดนของโครงการต่อพื้นที่ท้ายน้ำของคนในท้องถิ่น เช่น ปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม รวมถึงผลกระทบระบบนิเวศลำน้ำโขง ที่อาจเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการนำไปสู่การกำหนดเป็นท่าทีของประเทศไทยเพื่อเสนอต่อสปป.ลาว พิจารณา สทนช. จะได้ติดตามและร่วมจัดทำแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) ของโครงการร่วมกับ 4 ประเทศ เพื่อให้การพัฒนาเขื่อนหลวงพระบางเกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำให้น้อยที่สุด ทำให้เกิดความร่วมมือกำหนดมาตรการที่เหมาะสมรองรับการพัฒนาโครงการต่อไป



ทอ. ส่งเครื่องบิน ซี 130  บินโปรยสาร 12,000 ลิตร ดับไฟป่าเขาใหญ่ จ.ปราจีนฯ



            นายมณฑล สุดประเสริฐ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์ไฟป่า 2 จังหวัดในภาคกลาง ได้แก่ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 19-22 ก.พ. ในพื้นที่ 2 อำเภอ 3 ตำบล 4 หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ 12 และ 13 ต.เขาพระ หมู่ 13 ต.พรหมณี อ.เมือง และหมู่ 10 ต.ศรีกะอาง อ.บ้านนา มีพื้นที่ป่าได้รับความเสียหายประมาณ 1,000 ไร่ อธิบดี ปภ. กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดสามารถสกัดดับได้ส่วนใหญ่แล้วเหลือเพียงไฟป่าบางส่วนที่ลุกไหม้อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ผู้เกี่ยวข้องจะส่งกำลังเดินเท้าเข้าพื้นที่ปฏิบัติการดับไฟต่อไป



           สำหรับสถานการณ์ไฟป่าบริเวณเทือกเขามดแดง พื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จ.ปราจีนบุรี ไฟลุกลามลงมาบริเวณพื้นที่บ้านซับฟาน หมู่ 19 ต.เนินหอม อ.เมือง ทำให้พื้นที่ป่าได้รับความเสียหายกว่า 450 ไร่ ปัจจุบันอยู่ระหว่างการควบคุมเพลิงไม่ให้ลุกลาม พร้อมจัดชุดเฝ้าระวังเพื่อป้องกันมิให้ไฟปะทุซ้ำขึ้นมาอีก กองทัพอากาศ นำคณะขึ้นเฮลิคอปเตอร์ค้นหาและช่วยชีวิตแบบ EC-725 ไปสำรวจและประเมินสถานการณ์เพื่อวางแผนควบคุม จากนั้นสั่งการให้เครื่องบินลำเลียงแบบที่ 8 หรือ ซี 130 จากฝูงบิน 601 กองบิน 6 ดอนเมือง ขึ้นปฏิบัติภารกิจบรรทุกสารดับไฟป่าแบบไฟร์ วอลล์ ทู เจล จำนวน 12,000 ลิตร ไปโปรยยังจุดที่เกิดไฟไหม้ นอกจากนี้ยังได้ให้นำอากาศยานไร้คนขับ(ยูเอวี) บินถ่ายภาพจุดความร้อน (ฮอตสปอต) ทั้งบริเวณ จ.นครนายก และ จ.ปราจีนบุรี และส่งภาพแบบใกล้เคียงเวลาจริง (เรียลไทม์) ไปที่ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์เพื่อส่งเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67) จากฝูงบิน 461 กองบิน 46 จ.พิษณุโลก เข้าสนับสนุนปฏิบัติการดับไฟป่า



หลายพื้นที่เช้านี้ ค่าฝุ่นPM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพ



          สภาพอากาศในช่วงเช้านี้ จาก เว็บไซต์ของ air 4 thai ในพื้นที่ภาคเหนือ ระบุว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ คุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 45 - 119 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณ ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ในเวียง อ.เมือง จ.น่าน, ต.บ้านต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา, ต.พระบาท อ.เมือง จ.ลำปาง, ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง, ต.เวียง อ.เมือง จ.เชียงราย, ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จ.เชียงราย, ต.ช้างเผือก อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.สุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่, ต.นาจักร อ.เมือง จ.แพร่, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

          ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 66 - 134 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก, ต.ช่างเคิ่ง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่, ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน



         ส่วนที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ตรวจพบค่าระหว่าง 41 - 83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณแขวงหิรัญรูจี เขตธนบุรี จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนกาญจนาภิเษก เขตบางขุนเทียน จ.กรุงเทพฯ, แขวงบางนา เขตบางนา จ.กรุงเทพฯ, แขวงคลองจั่น เขตบางกะปิ จ.กรุงเทพฯ, แขวงดินแดง เขตดินแดง จ.กรุงเทพฯ, แขวงช่องนนทรี เขตยานนาวา จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนพระราม 4 เขตปทุมวัน จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนอินทรพิทักษ์ เขตธนบุรี จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนลาดพร้าว เขตวังทองหลาง จ.กรุงเทพฯ, ริมถนนดินแดง เขตดินแดง จ.กรุงเทพฯ, แขวงพญาไท เขตพญาไท จ.กรุงเทพฯ, แขวงพลับพลา เขตวังทองหลาง จ.กรุงเทพฯ, ต.บางกรวย อ.บางกรวย จ.นนทบุรี, ต.บางพูด อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี, ต.คลองหนึ่ง อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี, ต.บางขะแยง อ.เมือง จ.ปทุมธานี , ต.ทรงคนอง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, ต.บางโปรง อ.เมือง จ.สมุทรปราการ, ต.ตลาด อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ, ต.ปากน้ำ อ.เมือง จ.สมุทรปราการ, ต.บางเสาธง อ.บางเสาธง จ.สมุทรปราการ, ต.อ้อมน้อย อ.กระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร



         ฝุ่นละออง ขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ตรวจพบค่าระหว่าง 59 - 144 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m3) เกินมาตรฐานที่บริเวณริมถนนดินแดง เขตดินแดง จ.กรุงเทพฯ 



คลัง เตรียมเสนอครม.แนวทางบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19



         มาตรการบรรเทาผลกระทบต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อโรคโควิด-19  มีรายงานว่า กระทรวงการคลัง มีแผนเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวและแรงงานจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ผ่านมาตรการภาษีและมาตรการทางการเงิน มีรายงานว่า วันที่ 3 มีนาคม จะมีการเสนอให้พิจารณาโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2563 หรือลงทะเบียนบัตรสวัสดิการรอบ 2 ที่จะเปิดให้ผู้มีรายได้น้อยลงทะเบียนระหว่างวันที่  23 มีนาคม-26 เมษายน 2563 กระทรวงการคลัง จะสำรวจผู้มีรายได้น้อยที่เป็นข้อมูลปัจจุบันให้สอดคล้องกับเงื่อนไขที่กำหนดใหม่ เพื่อให้เกิดความแม่นยำในการให้ผู้มีรายได้น้อยตัวจริงได้รับบัตรมากที่สุด คาดว่า จะใช้เม็ดเงินประมาณ 8,500 ล้านบาท ใช้เม็ดเงินจากงบกลาง ในรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินปี 2563 มาดำเนินการ การลงทะเบียนเพื่อบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบนี้ จะมีการตรวจสอบรายได้เป็นรายครัวเรือน เพื่อแก้ปัญหาผู้ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ แต่มีครอบครัวดูแล ขณะเดียวกันจะมีการทบทวนข้อมูลของผู้ถือบัตรเพื่อให้เป็นปัจจุบันมากขึ้นและกระทรวงการคลังสามารถตัดสิทธิและเพิ่มสิทธิผู้ถือบัตรได้ตลอดเวลา



        ในการประชุมครม.ครั้งต่อไป วันที่ 10 มีนาคม กระทรวงการคลัง จะเสนอมาตรการชิม ช้อป ใช้ ช่วยชาติ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและท่องเที่ยวในประเทศ โดยจะเปิดกว้างให้ประชาชนทั่วไปลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิระหว่างวันที่ 1 เมษายน-30 มิถุนายน 2563 คาดว่า จะใช้เม็ดเงินในการดำเนินการ 35,000 ล้านบาท โดยจะใช้งบกลางในการดำเนินการเช่นกัน



CR:ภาพจ.นครนายก



 

ข่าวทั้งหมด

X