ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ โดย 1 ใน 3 รายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน

19 สิงหาคม 2562, 11:36น.


     ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) โดยจากข้อมูลของ United Nations World Population Ageing พบว่า หลังจากปี 2552 ประชากรที่อยู่ในวัยเด็กและผู้สูงอายุ จะมีจำนวนมากกว่าประชากรในวัยแรงงาน ในปี 2560 เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประชากรเด็กน้อยกว่าผู้สูงอายุ สถานการณ์นี้เป็นผลมาจากการลดภาวะเจริญพันธ์อย่างรวดเร็ว และการลดลงอย่างต่อเนื่องของระดับการตายของประชากร ทำให้จำนวนและสัดส่วนประชากรสูงอายุของไทย เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว



     จากข้อรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ.2559 มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทยประชากรของประเทศ พ.ศ. 2559 ข้อมูลเผยแพร่เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2558 ที่ผ่านมา พบว่าประเทศไทยมีประชากรอาศัยอยู่ทั้งหมดประมาณ 68.9 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นประชากรไทย 65.9 ล้านคน และเป็นแรงงานข้ามชาติอีกประมาณ 3 ล้านคน ของประชากรไทยทั้งหมดมด 65.9 ล้านคน มีผู้สูงอายุที่ อายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 11 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 16.5 ในขณะที่ประชากรรวมของประเทศไทยกำลังเพิ่มด้วยอัตราที่ช้าลงอย่างมาก จนเหลือเพียงร้อยละ 0.4 ต่อปีในปัจจุบัน ประชากรสูงอายุกลับเพิ่มขึ้นด้วยอัตรา ที่สูงมาก ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปเพิ่มขึ้นด้วยอัตราประมาณร้อยละ 5 ต่อปี ประชากรอายุยิ่งสูงยิ่งเพิ่มเร็ว ประชากรอายุ 80 ปีขึ้นไปเพิ่มด้วยอัตราสูงมากกว่า ร้อยละ 6 ต่อปี

     การอยู่อาศัยของผู้สูงอายุไทย มีความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ คนที่อยู่ด้วยกันในครัวเรือน ของผู้สูงอายุอาจเป็นได้ทั้งภาระและผู้ดูแลของผู้สูงอายุ ปัจจุบันครอบครัวไทยได้เปลี่ยนรูปแบบไปมาก จากที่เคยเป็นครอบครัวขยาย คนหลายรุ่นอาศัยอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวใหญ่ เปลี่ยนเป็นครอบครัวเดี่ยวที่สมาชิกในครัวเรือนน้อยลง ไปจนถึงครัวเรือนที่คนคนเดียวอาศัยอยู่ หรืออยู่ด้วยกันกับคนที่ไม่ใช่ญาติพี่น้อง จนไม่อาจเรียกว่าเป็น “ครอบครัว” ตามความนิยามเดิมที่ใช้กันมา



     ความหมายของสังคมผู้สูงอายุ (Aging Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 10 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 7 ขึ้นไป

     สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ (Aged Society) คือ สังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป หรือมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากับหรือมากกว่าร้อยละ 14 ขึ้นไป



     ด้านสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของผู้สูงอายุ 1ใน3 ของผู้สูงอายุมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน (การหาค่าใช้จ่ายทั้งปวงที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิต) ในปี 2558 ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 2,647 บาทต่อเดือน ร้อยละ 34.3 และในปี 2559 มีผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพ 8 ล้านคน รัฐบาลจ่ายเบี้ยยังชีพสูงถึง 63,219 ล้านบาท



     อย่างไรก็ตามแม้ว่าเรากำลังอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ก็ต้องพัฒนาระบบการดูแลทางสังคมสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต โดยนักวิชาการได้ให้ข้อเสนอแนะไว้ 5 ประเด็น คือ การสะท้อนความสำคัญของการดูแลทางสังคมในฐานะที่เท่าเทียมกับระบบดูแลสุขภาพ การค้นหาแนวทางการพัฒนาระบบบริการทางสังคมที่เหมาะสมสำหรับผู้สูงอายุ การวางแผนผลิตและพัฒนากำลังคนให้มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ จัดทำระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุระดับชุมชนให้ทันสมัย และมีมาตรฐาน รวมถึงการจัดตั้งกองทุนการดูแลทางสังคม การบูรณาการกองทุนสุขภาพและการดูแลทางสังคม





Cr.ข้อมูลและภาพจาก : fopdev.or.th , thaitgri.org , 
thaihealth.or.th

ข่าวทั้งหมด

X