อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ขอประชาชนอย่าตื่นตระหนก สาเหตุในกรุงฯจากรถวิ่ง คาดมี.ค.คลี่คลาย

14 มกราคม 2562, 17:33น.


 สถานการณ์ค่าฝุ่นละอองในพื้นที่กรุงเทพมหานครมีขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน (PM 2.5)  นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในวันนี้ช่วงเที่ยงค่าฝุ่นละออง PM 2.5 อยู่ที่ 70 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร บริเวณเขตดินแดง ตามมาตรฐานแล้วจะเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ที่ 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร แต่เมื่อเกิน 90 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรจะมีผลต่อสุขภาพ และหากมีค่าเกิน 100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรเกิน 3 วันติดต่อกัน จะเข้าสู่สภาวะวิกฤติ แต่ขณะนี้ยังคงสามารถรักษาสถานการณ์ได้ โดยตั้งแต่เดือนธ.ค. ถึงปัจจุบันมีค่าฝุ่นละอองสูงที่ประมาณ 90-100 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ประมาณ 5-6 วัน และลดลงจากสาเหตุฝนตกก่อนช่วงปีใหม่ ทำให้ชะล้างฝุ่นละออง และจากการควบคุมแหล่งกำเนิดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 คือรถยนต์ขนาดเก่าและรถยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซล ที่เป็นสาเหตุของค่าฝุ่นละอองดังกล่าว ในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 50-60 ส่วนอีกร้อยละ 35 เป็นสาเหตุจากการเผาในที่โล่ง ซึ่งผู้ว่าราชการจังหวัด 5 จังหวัดบริเวณใกล้เคียงและปริมณฑลได้สั่งงดห้ามเผาในที่โล่งในช่วง 1-2 เดือนแล้ว



ทั้งนี้หากดูตามสถานการณ์ของภูมิอากาศ คาดว่าค่าฝุ่นละออง PM 2.5 จะลดลงช่วงต้นเดือน มี.ค. เพราะอากาศหนาวจะหมดไป ส่วนการประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องพิจารณาตามความเหมาะสม พร้อมขอความร่วมมือประชาชนใส่หน้ากากอนามัย และรับฟังการแจ้งเตือนจากทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ส่วนผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ยอมรับว่ามีผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากอัตราของผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งมีส่วนประกอบของค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เป็นส่วนหนึ่ง การตื่นตัวขณะนี้อาจจะสามารถแก้ไขปัญหาโรคดังกล่าวในอนาคตได้ ขณะที่กลุ่มผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงและได้รับค่าฝุ่นละออง PM 2.5 เข้าสู่ร่างกาย ถือเป็นกลุ่มเป้าหมายที่หน่วยงานต่างๆและต้นสังกัดของผู้ปฏิบัติงาน ต้องช่วยจัดหาหน้ากากอนามัยไว้ใช้ขณะปฏิบัติงานในพื้นที่ พร้อมชี้แจงกรณีหมอกควันในช่วงเช้า โดยยืนยันว่าเป็นหมอก มีค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ส่วนหนึ่งเท่านั้น แต่ไม่ใช่ในปริมาณสูง จึงไม่อยากให้ประชาชนตื่นตระหนก



อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวต่อว่าตราบใดที่ยังมีรถสัญจรในเขตกรุงเทพมหานครค่าฝุ่นละอองเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นทุกวัน แต่จะพยายามใช้มาตรการเพื่อให้ลดลง ขณะเดียวกันในระยะยาว ได้หารือกับผู้ประกอบการรถยนต์และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหากับแหล่งกำเนิดหลักคือรถยนต์ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนจากน้ำมันดีเซลเป็นน้ำมันดีเซล B 20 ช่วยลดค่าฝุ่นละออง PM 2.5 ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 โดยผู้ประกอบการรถยนต์ก็จะมีการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้น

ข่าวทั้งหมด

X