เริ่มแล้ววันนี้! กทม.จับ-ปรับ 1,000 บาท จยย.ขับบนทางเท้า

29 พฤศจิกายน 2561, 12:26น.


การแก้ไขปัญหารถจักรยานยนต์ขับขี่บนทางเท้า หลังการประชุมแนวดิ่งเทศกิจ 50 เขต นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยอมรับว่า แม้จะออกมาตรการเข้มงวดตามโครงการจับจริง ปรับจริง จนในรอบ 4 เดือน มีผู้กระทำความผิดกว่า 10,000 รายและปรับได้กว่า 4 ล้านบาทแต่จำนวนผู้กระทำความผิดกลับไม่ลดลง โดยเฉพาะจุดที่ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำยังพบผู้ฝ่าฝืน ขับขี่บนทางเท้าอยู่เช่นเดิม จึงเตรียมเพิ่มมาตรการเข้มงวด เพิ่มอัตราค่าปรับผู้ขับขี่บนทางเท้า ต่ำสุดจาก 500 บาท เป็น 1,000 บาท เริ่มทันทีในวันนี้ 29 พ.ย. เชื่อว่า การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง จะสามารถแก้ไขปัญหาได้ เนื่องจากสังคมไทยเป็นสังคมที่อะลุ่มอล่วย ดังนั้นกฎหมายที่เข้มงวด จะทำให้ผู้กระทำความผิดไม่กล้าทำผิดซ้ำอีก แม้ก่อนหน้านี้พลตำรวจเอกอัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เคยมอบนโยบายถึงการปรับขั้นต่ำ 500 บาท ว่ามีจุดประสงค์เพื่อไม่ให้เกิดการกระทำความผิด แต่ก็ยังไม่เห็นผลเท่าที่ควร และหากยังไม่เรียบร้อยอาจพิจารณาปรับขึ้นอีก รวมถึงให้เจ้าหน้าที่ยึดรถจักรยานยนต์ หรือสิ่งของที่ใช้กระทำความผิดตามกฎหมาย สำหรับผู้ไม่สามารถจ่ายค่าปรับได้ และมอบรถคืนจนกว่าจะนำค่าปรับมาไถ่รถ





นอกจากนี้ ยังหารือถึงการเพิ่มโครงการคู่ขนานนำกล้อง CCTV จับภาพผู้กระทำความผิด พร้อมส่งใบสั่งเป็นจดหมาย ไปยังที่อยู่อาศัย โดยมอบหมายฝ่ายกฎหมาย สำนักเทศกิจหารือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันกรุงเทพมหานคร จะมีกล้อง CCTV ถึง 50,000 ตัว แต่กล้องดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อความปลอดภัยไม่ใช่เพื่อจับผู้กระทำความผิด ดังนั้น จะต้องเขียนโครงการ เสนอผู้บริหารเพื่อของบประมาณจัดสรรเพิ่มเติม และในเบื้องต้น ยังต้องประสานกับกรมการขนส่งทางบก เรื่องการต่อทะเบียนรถด้วย



นายสกลธี ยังยอมรับว่าได้ยินเสียงสะท้อนกรณีข้อละเลยการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เทศกิจ แต่เจ้าหน้าที่คงไม่สามารถประจำได้ทุกจุด ตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจาก มีจำนวนจำกัด บางจุดจึงเล็ดลอดสายตาไปบ้าง หลังจากนี้ จะจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ลงพื้นที่สุ่มตรวจบางจุดเพิ่มเติม



ที่ประชุมยังได้หารือกรณีจุดจอดรถจักรยานยนต์รับจ้างจากเดิมที่กำหนดให้จอดบนทางเท้าเพื่อแก้ไขปัญหากีดขวางการจราจร แต่วันนี้ ได้มอบนโยบายสำนักเทศกิจ สำรวจทางเท้าที่มีขนาดกว้าง ดำเนินการปาดเกาะ เหมือนจุดจอดรถแท็กซี่ ไม่ให้รถจักรยานยนต์รับจ้างนำยานพาหนะไปจอดบนทางเท้า หรือกีดขวางการจราจรบนถนน เบื้องต้นสำรวจ 50 เขต พบมีจำนวน 400 จุด ส่วนทางเท้าที่มีขนาดแคบ ต้องหาทางแก้ไขในระยะยาว เช่น ย้ายจุดจอดหรือขอใช้พื้นที่เอกชน แต่คงไม่สามารถจะยกเลิกวินรถจักรยานยนต์ได้ เพราะจะเกิดปัญหากับประชาชน



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม 



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X