กทพ.ลงนามก่อสร้างโครงการทางพิเศษพระราม 3- ดาวคะนอง- วงแหวน แก้รถติดพระราม 2

14 พฤศจิกายน 2561, 11:59น.


การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.)ลงนามสัญญาจ้างควบคุมงานก่อสร้างโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรมโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง  -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก  นายสุรงค์ บูลกุล ประธาน กทพ. เป็นประธานในพิธีลงนามในสัญญาจ้างควบคุมการก่อสร้างระหว่าง กทพ. กับ บริษัท เอพซิลอน จำกัด บริษัท เอเชี่ยน เอ็นจิเนียริ่ง คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท เอ็ม เอ เอ คอนซัลแตนท์ จำกัด บริษัท โชติจินดา คอนซัลแตนท์ จำกัด และพิธีลงนามข้อตกลงคุณธรรม โดยมี ดร.สุชาติ ชลศักดิ์พิพัฒน์  ผู้ว่าการ กทพ.  รวมทั้ง ผู้บริหารบริษัท และผู้สังเกตการณ์อิสระจากองค์กรต่อต้านคอรัปชั่นเข้าร่วมงานด้วย  





นายสุรงค์ เปิดเผยว่า  สำหรับโครงการทางพิเศษสายพระราม 3 - ดาวคะนอง  -วงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก เป็นโครงการพิเศษที่อยู่ในแผนแม่บททางพิเศษในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งเป็นโครงการที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวรัศมีระหว่างกรุงเทพมหานครกับพื้นที่ด้านตะวันตกของกรุงเทพมหานคร และปริมณฑลรวมถึงจังหวัดในภาคใต้ ให้เดินทางสู่กรุงเทพฯได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัดบนถนนพระรามที่ 2  นอกจากนี้ จะเป็นเส้นทางเลือกของการเดินทางในการขนส่งสินค้าในภาวะไม่ปกติ  เช่นเกิดอุทกภัย



โครงการดังกล่าว มีระยะทางรวม 18.7 กม.  จุดเริ่มต้นอยู่ที่ กม.13+000 ของถนนพระรามที่ 2 ก่อนถึงแยกต่างระดับบางขุนเทียน บริเวณวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครด้านตะวันตก และเป็นทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรซ้อนทับไปตามแนวเกาะกลางถนนพระรามที่ 2 มาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงดาวคะนอง จากนั้นแนวสายทางจะทับซ้อนบนทางพิเศษเฉลิมมหานครจนถึงบริเวณถนนพระราม 3 ใกล้กับทางแยกต่างระดับบางโคล่  สิ้นสุดโครงการโดยเชื่อมต่อกับทางพิเศษศรีรัชและทางพิเศษเฉลิมมหานคร โดยช่วงที่ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาจะก่อสร้างสะพานใหม่ขนาด 8 ช่องจราจรขนานอยู่ทางด้านทิศใต้ของสะพานพระราม 9 โดยมีทางขึ้น - ลง จำนวน 7 แห่ง



นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังเป็นโครงการเริ่มต้นเรื่องของความโปร่งใส เพราะการลงทุนเป็นแบบโครงการระดมทุนโดยมีผู้ถือหุ้นรายย่อย ถือหุ้น มากกว่าร้อยละ 50 ซึ่งความสามารถในการทำรายได้ก็มาจากความไว้วางใจของผู้ร่วมลงทุน โดยคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในต้นปีงบประมาณ 2562 และสามารถเปิดให้บริการได้ในปีงบประมาณ 2565  ซึ่งเมื่อเปิดใช้แล้วจะช่วยแบ่งเบาการจราจรของทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงดาวคะนองถึงสะพานพระราม 9 และสามารถรองรับการเดินทางระหว่างพื้นที่ชั้นนอกและชั้นในกรุงเทพฯรวมถึงช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรที่ติดขัดบนถนนพระรามที่ 2 และทางพิเศษเฉลิมมหานครช่วงบางโคล่ ดาวคะนอง และยังเป็นเส้นทางรองรับการเดินทางและขนส่งสินค้ากรณีเกิดเหตุภัยธรรมชาติและเหตุฉุกเฉินอีกด้วย



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X