อุบัติเหตุในไทยน่าเป็นห่วงรณรงค์ไม่ได้ผล ยอดคนตายสูงกว่าไข้เลือดออก200เท่า

09 พฤษภาคม 2561, 19:47น.


เวที Big Talk #2 เกี่ยวกับว่าประเทศไทยต้องมีสถาบันวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ที่ผู้เชี่ยวชาญด้านป้องกันอุบัติเหตุขององค์การอนามัยโลก ชี้ชัดสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของไทยยังน่าเป็นห่วง ข้อมูลผู้เสียชีวิตและพิการยังทรงตัว ทั้งในช่วงเทศกาลและนอกเทศกาล ระบุชัดหากยังปฏิบัติด้วยวิธีเดิมๆ จะไม่สามารถแก้ปัญหาได้แน่นอน โดยย้ำว่า “การป้องกันอุบัติเหตุจราจรเป็นความรับผิดชอบของประชาชนทุกคน” วอนภาครัฐเพิ่มการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนร่วมด้วย



นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น กล่าวว่า เป็นจังหวะสำคัญของประเทศไทยที่จะพูดถึงเรื่องการมีสถาบันวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนนในช่วงของการปฏิรูปประเทศช่วงนี้  เพราะทุกๆ ชั่วโมงมีคนไทยเสียชีวิต 3 คน ในหนึ่งวันมากกว่า 40-60 คนต่อวัน ทุกชั่วโมงจะมีผู้บาดเจ็บหนักถึง 200 คน และพิการ 8 คน การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุจราจรมีสูงกว่าการฆาตกรรม 8 เท่า สูงกว่า ไข้เลือดออก 200 เท่า 





เช่นกรณี นักแสดงสาววัยรุ่นที่เสียชีวิตในรถยนต์ยี่ห้อดังช่วงก่อนสงกรานต์  และยังมีกรณีอุบัติเหตุรถบัสตกถนนเส้นทางหลวง 304 ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตถึง 19 คน จากภาพข่าวที่เห็นแทบไม่เหลือสภาพรถบัส กรณีนี้สะท้อนถึงความไม่พร้อมของคนขับรถที่ใช้สารเสพติด ขณะที่ตัวรถไม่มีความแข็งแรงตามมาตรฐานสากล  หลังจากนั้นยังมีเหตุรถบัสเกิดไฟไหม้จนแรงงานชาวเมียนมาเสียชีวิต 20 คน  เป็นกรณีที่สะท้อนถึงการไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัย ไม่มีทางออกฉุกเฉินให้หนีไฟปกติประเทศไทยจะทำรายงานอุบัติเหตุเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์และปีใหม่



สำหรับคนเสียชีวิตในสงกรานต์ปีนี้มากกว่าปีที่แล้ว สะท้อนว่าสิ่งที่ทำการรณรงค์ช่วงเทศกาลมาตลอด 10 ปี ไม่ได้ช่วยให้อุบัติเหตุลดลง “ความสูญเสียแบบนี้ทำให้ไทยขึ้นแท่นการเสียชีวิตเป็นอันดับ 1 ของโลก (อย่างไม่เป็นทางการ) ขึ้นแท่นใน 3 เรื่อง คือ เสียชีวิตมากที่สุด ขับรถแย่มากที่สุด และมีถนนแย่มากที่สุดในโลก หากพิจารณาแล้ว 10 กว่าปีที่ผ่านมา ประเทศไทยยังแก้ปัญหาไปไม่ถึงรากของปัญหา จนองค์การสหประชาชาติประกาศว่า ไทยมีจุดอ่อนเรื่องการจัดการ เพราะไทยยังขาดสถาบันหลักด้านนี้ แม้เราจะมีเครือข่ายมากมายทางสังคมที่จะเชื่อมให้เกิดการเคลื่อนที่ของประเด็นก็ตาม





นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ และอดีตกรรมาธิการสามัญขับเคลื่อนการปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า ตนคิดไม่เหมือนคนอื่น เพราะทำเรื่องรณรงค์ป้องกันอุบัติเหตุมา 20 กว่าปี บางครั้งการมองภาพจึงต่างออกไป แต่วัตถุประสงค์สุดท้าย คือ ลดความตาย(ที่ป้องกันได้) ปีละ 20,000 กว่าคน แต่บางอย่างป้องกันลำบาก แต่บางเรื่องที่ไม่สมควรตาย ไม่ถึงเวลา แต่ต้องมาตายในสาเหตุที่ป้องกันได้ เป็นเรื่องน่าเสียใจ แต่กลับไม่มีการเขียนไว้ในเรื่องของการปฏิรูป แสดงว่า เรื่องนี้ไม่ถูกเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญอย่างเร่งด่วน หรือแม้แต่จัดการภายใน 20 ปี สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า สังคมประชาชนไม่เห็นว่าเรื่องนี้ต้องแก้ไข ซ้ำปัญหายังอยู่ที่ผู้บริหารประเทศไม่เห็นปัญหา

ข่าวทั้งหมด

X