โฆษกรัฐบาลเผยเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย จ่ายครั้งเดียว เพื่อกระตุ้นบริโภค ต่างจากประชานิยม

23 พฤศจิกายน 2559, 13:43น.


หลังรัฐบาลออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาท/ปี จำนวน 3,000 บาท/คน และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาท/ปีขึ้นไป แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี จำนวน 1,500 บาท/คน  พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย ว่า  พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ย้ำชัดเจนว่า มาตรการนี้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราว ให้ครั้งเดียวแล้วจบ ไม่ใช่การให้เงินช่วยเหลือแบบรายเดือน ซึ่งมีผลดีคือจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบ และประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียน เพื่อต่อยอดไปสู่มาตรการช่วยเหลืออื่น ๆ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ให้ตรงจุดอย่างแท้จริง  



โดยในระหว่างที่รัฐบาลกำลังสร้างความเข้มแข็งให้กับประเทศ ก็จำเป็นต้องมีหลายมาตรการออกมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่จะแตกต่างจากประชานิยมในอดีตที่มุ่งให้ความช่วยเหลือประชาชนแบบสะเปะสะปะ ไม่มีการตรวจสอบรายได้ วันนี้รัฐบาลให้ประชาชนไปขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงทำให้มีฐานข้อมูลที่ถูกต้อง และเมื่อวันข้างหน้าเศรษฐกิจดีขึ้น รัฐบาลจะประหยัดงบประมาณในการช่วยเหลือ และสามารถนำเงินไปลงทุนพัฒนาประเทศในด้านอื่น ๆ ได้



โฆษกรฐบาล กล่าวว่า หากรัฐบาลไม่ทำเช่นนี้ วงจรปัญหาแบบเดิมก็จะเกิดขึ้นวนเวียนซ้ำซาก ดังนั้นจึงไม่ควรนำไปเปรียบเทียบกับสิ่งที่ดำเนินการมาก่อนหน้า ส่วนประชาชนผู้มีรายได้น้อยทั้งในและนอกภาคการเกษตรก็จำเป็นต้องปรับตัว ไม่รอคอยแต่เพียงการช่วยเหลือจากภาครัฐเท่านั้น โดยรัฐบาลยินดีเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนให้ทุกคนสามารถยืนอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและยั่งยืนด้วยตนเอง

ข่าวทั้งหมด

X