*ความเคลื่อนไหวเมืองไทยวันนี้เวลา07.30น.*

27 พฤษภาคม 2558, 07:02น.


+++การเร่งรัดการทำงานของข้าราชการ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกฯ กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ สั่งขันนอต ให้เวลารองนายกฯหรือรัฐมนตรีลงตรวจพื้นที่ราชการแล้วให้ถามถึงรายละเอียดและข้อมูลงานกับข้าราชการระดับปฏิบัติ หากตอบไม่ได้ แปลว่าไม่มีความรู้ในเรื่องงานนั้นๆ หรือไม่ได้ทำงานจริง ให้ทำการปรับย้ายตามสมควร 



+++ส่วนวงการตำรวจ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) เชิญข้าราชการตำรวจที่ถูกโยกย้ายทั้งหมดมาร่วมพูดคุยถึงการปฏิบัติหน้าที่ รวมถึงเปิดโอกาสให้ทำหนังสือชี้แจง หลังมีกระแสว่ามีการแสดงความไม่พอใจต่อคำสั่ง พล.ต.อ.สมยศ ยืนยันว่า ทำสิ่งนี้ให้เกิดความเท่าเทียมกัน มีมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้ตำรวจท้องที่และหน่วยสนับสนุนร่วมกันทำงานให้เกิดประสิทธิภาพ ไม่ได้มีเจตนากลั่นแกล้งหรืออาฆาตมาดร้ายใคร ไม่รู้จักใครทั้งสิ้น เวลาออกคำสั่งไม่ได้มองว่าหน่วยนี้มีใครบ้าง นามสกุลอะไรบ้าง เด็กใครบ้าง ญาติใครบ้าง รุ่นพี่รุ่นน้อง ตรงนี้ไม่ต้องคำนึง ว่ากันไปตามคำสั่ง ยืนยันว่าใช้อำนาจกับสิ่งที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น ทุกคนต้องปฏิบัติ ต้องช่วยกันทำงาน จะลอยตัวไม่ได้ และต้องรับผิดชอบ ร่วมกัน



+++บ่ายวันนี้ นักวิชาการจากเยอรมนี ซึ่งเชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ รัฐศาสตร์ กฎหมาย และมีส่วนช่วยสร้างความปรองดองให้ชาติแยกตัวออกจากสหภาพโซเวียต มาให้ความรู้ที่กระทรวงการต่างประเทศ ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้มีการเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายจากฝรั่งเศสมาให้ความรู้



+++เนื้อหาบางช่วงบางตอนของความเห็นของ ครม.ที่เสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญ เช่น เรื่องการเลือกตั้งส.ส.ประชาชนเข้าใจว่า ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อจะไปทำหน้าที่รัฐบาล ส.ส.แบบแบ่งเขตจะไปทำหน้าที่นิติบัญญัติ กมธ.ยกร่างฯจึงควรทบทวนหลักคิดในเรื่องนี้ว่าเจตนารมณ์ของการมี ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อตามร่างรัฐธรรมนูญนี้ประสงค์อย่างไร และควรใช้ระบบเช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญปี 2550 จะเหมาะสมกว่าหรือไม่ มีรายงานว่า ครม.ได้เสนอตัดคำว่ากลุ่มการเมืองออกจากทุกมาตรา ที่ถูกกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญ



+++พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ที่ปรึกษาและโฆษกคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ยกร่าง เปิดเผยกรณีคำขอแก้ไขของครม. ที่มีกว่า 100 ประเด็นจะมีน้ำหนักมากกว่าของสมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ(สปช.) หรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า กมธ.ยกร่างฯ ให้ความสำคัญกับทุกคำขอที่เสนอ เข้ามา ทั้งนี้ การพิจารณาก็ขึ้นอยู่กับเหตุและผลในการขอแก้ไข พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนให้เกิดความเหมาะสมและเป็นที่ยอมรับ เพราะไม่มีใครเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ จุดประสงค์ของการยกร่างฯ ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ขณะนี้ก็ค่อนข้างแน่นอนแล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การทำประชามติ ดังนั้นการพิจารณาคำขอแก้ไขที่แต่ละฝ่ายเสนอมา กมธ.ยกร่างฯจะพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ  การขอแก้ไขรัฐธรรมนูญหากขอแก้ไขหนึ่งคำ ก็จะกระทบกับหลายประเด็น กมธ.ยกร่างฯมีเวลาอีก 40 วันเพื่อพิจารณาปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เบื้องต้นมี 2 แนวทาง คือปรับแก้ไขเรียงรายมาตรา หรือไล่เรียงประเด็นที่สำคัญเกี่ยวเนื่องกับรัฐธรรมนูญ ส่วนจะใช้แนวทางใด ต้องรอให้ที่ประชุมหารือกันอีกครั้ง



+++ระหว่างวันที่ 22 มิถุนายน-3 กรกฎาคม  กมธ.ยกร่างฯ จะไปประชุมนอกสถานที่ที่สวนสนประดิพัทธ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทาง กมธ.ยกร่างฯ จะใช้เวลาพิจารณาอย่างจริงจังและเข้มข้น ตั้งแต่เช้ายันค่ำ เพื่อพิจารณาประเด็นสำคัญเพราะเท่าที่ทราบข้อมูลพบว่า ครม.เสนอขอแก้ไข จำนวน 110 ประเด็น ขณะที่ กมธ.ปฏิรูปการเมือง สปช. เสนอประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็นเช่นกัน ระหว่างวันที่ 2-6 มิถุนายน โดยกำหนดให้ผู้ชี้แจงแต่ละคำขอเข้าชี้แจงไม่เกินกลุ่มละ 5 คน 3 ชั่วโมง ดังนี้ วันที่ 2 มิถุนายน กลุ่มที่ 1 นายพลเดช ปิ่นประทีป เวลา 09.00-12.00 น. กลุ่มที่ 2 นายธีรยุทธ์ หล่อเลิศรัตน์ เวลา 13.30-16.30 น. วันที่ 3 มิถุนายน กลุ่มที่ 3 นายมนูญ ศิริวรรณ เวลา 09.00-12.00 น. กลุ่มที่ 4 นายสมชัย ฤชุพันธุ์ 13.30-16.30 น. วันที่ 4 มิถุนายน กลุ่มที่ 5 นายสมศักดิ์ โล่สถาพรพิพิธ เวลา 09.00-12.00 น. กลุ่มที่ 6 นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เวลา 13.30-16.30 น. วันที่ 5 มิถุนายน กลุ่มที่ 7 นายประสาร มฤคพิทักษ์ เวลา 09.00-12.00 น. กลุ่มที่ 8 นายพงศ์โพยม วาศภูติ เวลา 13.30-16.30 น. และ วันที่ 6 มิถุนายน กลุ่มที่ 9 ครม. นำโดยนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ชี้แจงเวลา 09.00-12.00 น.



+++คณะรัฐมนตรี(ครม.) เห็นชอบแต่งตั้งนายเกษมสันต์ จิณณวาโส เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ นอกจากนี้มีมติแต่งตั้งนายอนันต์ ลิลา รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  เป็นผู้ตรวจราชการกระทรวง  และ แต่งตั้งนายสมชาย ชาญณรงค์กุล ผู้ตรวจราชการกระทรวง เป็นรองปลัดกระทรวง อีกทั้งเห็นชอบแต่งตั้งนายเสริมสกุล คล้ายแก้ว เป็นผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค



+++รองนายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านตัวเงินแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองระหว่างปี 2556-2557



+++คณะเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์กจากประเทศต่าง ๆ เข้าเยี่ยมคารวะนายกฯ  ในโอกาสเยือนไทยในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ ทำเนียบรัฐบาล ช่วงบ่าย นายกฯ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติครั้งที่ 4/2558



+++คดีค้ามนุษย์ ผู้ต้องหาตามหมายจับเข้ามอบตัวเพิ่ม 2 คน คือ 1.นายดีน เหมมันต์ อายุ 65 ปี เครือข่ายในพื้นที่ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา กลุ่มของนายบรรจง ปองผล หรือ โกจง นายกเทศมนตรีปาดังเบซาร์ จ.สงขลา และ 2.นายหมาดสะอาด ใจดี อายุ 49 ปี เครือข่าย จ.สตูล กลุ่มนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ โกโต้ง นายก อบจ.สตูล ทำให้ยอดผู้ต้องหาที่ควบคุมตัวได้แล้วทั้งสิ้นมีจำนวน 48 คน จากที่ถูกออกหมายจับ 77 คน ส่วนที่เหลืออีก 29 คน ยังอยู่ระหว่างการติดตามจับกุม



+++รัฐบาลเมียนมาร์ ระบุว่าได้บรรลุข้อตกลงกับบังคลาเทศเพื่อส่งกลับชาวบังคลาเทศ 200 คนซึ่งได้รับการช่วยเหลือมาจากเรือนอกชายฝั่งเมียนมาร์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยระบุว่าคนเหล่านี้ลงเรือจากเมืองท่าคอกซ์บาซาร์ของบังคลาเทศ บ้างก็ถูกหลอก หรือถูกบังคับ



+++พลตำรวจคาลิด อาบู บาการ์ ผู้บัญชาการตำรวจมาเลเซีย เชื่อว่า ค่ายกักกันอย่างน้อย 2 ค่ายที่พบในป่า เพิ่งถูกทิ้งร้างในช่วง 2-3 สัปดาห์ เป็นช่วงเดียวกับที่ไทยปราบปรามการค้ามนุษย์ พร้อมระบุว่าค่ายกักกันเหล่านี้น่าจะมีมาตั้งแต่ปี 2556



+++ประเด็นสำคัญในการหารือในการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย 17 ประเทศ ในวันที่ 29 พ.ค.นี้  นายกฯ ระบุว่า ไทยยืนยันจะไม่มีการตั้งศูนย์พักพิงอย่างแน่นอน เพราะบุคคลเหล่านี้จะถูกดำเนินคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ไทยจะเป็นผู้อำนวยความสะดวก ในการเดินทางของชาวโรฮิงญาไปยังประเทศปลายทาง และจะหารือ เรื่องงบประมาณจากยูเอ็น ด้วย โดยเรายืนยันว่า อยู่ในขั้นของการอำนวยความสะดวก และดูแลตามหลักมนุษยธรรม ดำเนินการตามหลักกฎหมายหลักๆจะหารือถึงการให้ความช่วยเหลือกับประเทศต้นทางด้านการพัฒนา และการตั้งกองทุน โดยจะขอรับการสนับสนุนงบประมาณให้กับประเทศปลายทาง ทั้งอินโดนีเซียและมาเลเซีย เพื่อไม่ให้ชาวโรฮิงญาอพยพออกมาอีก ซึ่งวงเงินที่ใช้เบื้องต้นต้องหารือในที่ประชุม ปัญหาต้องแก้ทั้งระบบ อาเซียนจะต้องร่วมกัน โดยไม่ผลักภาระไปที่ประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในอาเซียน หากมีความขัดแย้ง การแก้ปัญหาจะทำไม่ได้ และจะมีการเสนอการตั้งศูนย์ช่วยเหลือต้นแบบ ทั้งเครื่องบินลาดตระเวน และเรื่องการตั้งศูนย์บัญชาการทางทะเลเพื่อช่วยเหลือชาวโรฮิงญา



 

ข่าวทั้งหมด

X