มีพุงอันตรายแค่ไหน “ภาวะน้ำหนักเกิน” ภัยร้ายต่อสุขภาพ

11 มีนาคม 2564, 20:00น.


            ในชีวิตประจำวันของใครหลายคนมีวิถีการกินที่เสี่ยงต่อการเกิดภาวะน้ำหนักเกิน หรือโรคอ้วนอย่างมาก ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นภัยร้ายคุกคามสุขภาพ ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับการมีพุงอันตรายแค่ไหน ภาวะน้ำหนักเกิน ส่งผลให้เกิดภัยร้ายต่อสุขภาพอย่างไร สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            สาเหตุที่ทำให้เกิด “โรคอ้วน”


            ปัจจุบันพบคนอ้วนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ประเทศไทยพบเด็ก และผู้ใหญ่มีน้ำหนักเกินมาตรฐานจำนวนมากจากไลฟ์สไตล์การกิน อาหารแบบเวสเทิร์นมากขึ้น เช่น เบเกอรี่ ขนมหวาน ซึ่งเป็นอาหารที่มีแคลอรีสูง ทั้งยังกินผักน้อย ไม่ถูกหลักโภชนาการ รวมถึงกินมากเกินความจำเป็น ทำให้แนวโน้มการเป็นโรคอ้วนเพิ่มมากขึ้น

           มีพุงอันตรายแค่ไหน ภาวะน้ำหนักเกิน ภัยร้ายต่อสุขภาพ


           จากการสำรวจพบคนไทย ร้อยละ 34.1 หรือ 19.3 ล้านคน มีภาวะ "อ้วน" และมีคนไทยที่รอบเอวเกิน "อ้วนลงพุง" คิดเป็นร้อยละ 37.5 หรือกว่า 20.8 ล้านคน โดยทั้ง 2 กลุ่ม เสี่ยงป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ส่งผลต่อสมรรถภาพการทำงาน คุณภาพการนอน การใช้ชีวิตในสังคม ความกังวลในรูปลักษณ์ของตนเอง เกิดเป็นปมด้อยที่อาจส่งผลต่อสุขภาพจิต เครียด ซึมเศร้าได้ ที่สำคัญคือจำนวนของ "เด็กอ้วน" ก็เพิ่มขึ้นด้วย จากการคาดการณ์พบว่ามีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 20 ส่งผลให้มีจำนวนผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเบาหวานเพิ่มขึ้นด้วย

            นอกจากนี้ “โรคอ้วน” ยังเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้าย ซึ่งอันตรายของการ "มีพุง" คือ มีไขมันสะสมบริเวณหน้าท้องเยอะ เสี่ยงต่อการเป็นโรคไขมันพอกตับ อันจะนำไปสู่ภาวะตับอักเสบ ตับอักเสบเรื้อรัง โรคมะเร็งตับ  โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอดเรื้อรัง โรคเบาหวาน
และโรคเรื้อรังอื่นๆ เช่น ไตวาย เกาต์ ตับแข็ง สำหรับคนที่คิดว่าโรคอ้วนมาจากพันธุกรรม ในทางการแพทย์พบว่าอยู่ในกลุ่มคนส่วนน้อย

           ปัจจุบันมีแนวทางกินอาหารเพื่อลดน้ำหนัก ไม่ว่าจะ การกินอาหารแบบคีโต (Keto diet) คือเลือกกินอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและไม่จำกัดปริมาณไขมัน การกินอาหารแบบจำกัดเวลา (Intermittent Fasting : IF) คืออดอาหารเป็นช่วงๆ ซึ่งสูตรที่ได้รับความนิยมจะเป็น 16 : 8 (กินได้ภายใน 8 ชั่วโมง) รวมถึงการกินอาหารตามหลักกรมอนามัย 2 : 1 : 1 คือ ให้แบ่งจานแบนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 นิ้ว แบ่งเป็น 4 ส่วนเท่าๆ กัน โดย 2 ส่วนเป็นผัก อีก 1 ส่วนเป็นข้าว แป้ง และอีก 1 ส่วนเป็นโปรตีน เน้นเนื้อสัตว์ไม่ติดมันและเนื้อปลา ที่สำคัญอย่าลืมออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ นอนหลับให้เพียงพอกันด้วย



 



ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

X