"พลังโซเชี่ยล" สุดยอดอาวุธของผู้บริโภค

19 มกราคม 2558, 19:12น.


"ข้าวถ้วยละร้อย รับไม่ได้จริงๆ"


"ผงะ! หนอนริมหม้อชาบู"


"แซนวิชไส้น้อย ติดสลากเกินจริง"


"ข้าวผัดวิญญาณปู ร้านสะดวกซื้อ"


"ป๊อบคอร์นโรงหนัง ราคานำเข้านอกโลก"


พวดหัวเหล่านี้ คือตัวอย่างของกระทู้ที่มีการร้องเรียนผ่านสื่อสังคมออนไลน์อย่างเว็บไซต์พันทิปและเฟสบุ๊ค ก่อนแชร์ส่งต่อกันจนสะเทือนถึงเจ้าของกิจการ และมีการตอบรับแก้ไขจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามมา


 


ร้านอาหารชื่อดังหลายแห่ง เริ่มให้ความสำคัญกับสังคมออนไลน์มากกว่าสื่อปกติทั่วไป ทั้งนี้เป็นเพราะสังคมออนไลน์เปรียบเสมือนเสียงสะท้อนที่ผู้บริโภคสามารถแสดงความคิดเห็นผ่านมือถือได้ทันที สิ่งที่ผู้ตั้งกระทู้พูดถึงทั้งการชื่นชมหรือวิจารณ์กล่าวหา ล้วนถูกพิสูจน์ข้อเท็จจริงโดยกลุ่มผู้บริโภคกันเอง สิ่งใดถูกสิ่งใดจริง มักมีคนแสดงความเห็นคล้อยตาม ขณะที่สิ่งใดเท็จ ก็มักมีกลุ่มคนเข้ามาแสดงความเห็นโต้แย้งกันเองเช่นกัน แม้กระทั่งกระทู้ที่ถูกตั้งขึ้นมาจงใจสร้างกระแส ก็มีให้เห็นบ่อยครั้งที่ทำไม่สำเร็จ แถมกลับกลายเป็นหอกทิ่มแทงผู้ตั้งกระทู้เสียเอง


 


เทคโนโลยีและสื่อสังคมออนไลน์ที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทำให้ผู้บริโภคสามารถใช้โทรศัพท์มือถือบันทึกภาพหรือคลิปวีดีโอที่พร้อมจะเผยแพร่สิ่งที่เกิดขึ้นสู่สังคม และแพร่กระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง.. "สิ่งที่เป็นภาพลบ"ผู้คนจะให้ความสนใจเป็นพิเศษ และพร้อมให้ความร่วมมือในการส่งต่อและงดบริโภคทันที ที่ผ่านมามีตัวอย่างให้ดูมากมายนับไม่ถ้วน ที่เจ้าของกิจการต้องรีบแก้ข่าวหรือออกแถลงการณ์แก้ภาพลบในทันที


 


สิ่งที่เขียนนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ ..


แต่เป็นสิ่งที่อยากให้ย้อนไปดูว่าทำไม"พลังโซเชี่ยล"จึงเป็นสุดยอดอาวุธของผู้บริโภค? ทั้งที่จริงแล้ว เรามีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ร้องเรียนมากมาย อาทิ สคบ.(1166) กทม.(1555) อย.(1556) ตร.(191) กรมการค้าภายใน(1569) กรมการขนส่งทางบก(1584) ฯลฯ และหน่วยงานเหล่านี้ยังมีเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นผู้ตรวจตราอีกด้วย


 


ดังนั้นปัญหาที่แท้จริงคืออะไร ..


1. ผู้บริโภคไม่ทราบ มีความเป็นไปได้สูงที่หลายคนไม่ทราบว่า หากแจ้งกรมการค้าภายในให้ดำเนินการปรับร้านอาหารที่ไม่ติดป้ายราคา ผู้แจ้งมีสิทธิ์ได้เงินสินบนนำจับ25%


2. ผู้บริโภคทราบแต่ไม่ศรัทธา ซึ่งอาจเกิดจากการไม่ยอมทำตามขั้นตอนของผู้บริโภคเสียเอง


3. หน่วยงานดำเนินการไม่มีประสิทธิภาพ แจ้งไปก็ไม่ดำเนินการ ไม่ติดตามผล ไม่แจ้งผล หรือทำงานล่าช้าจนเกินไป


4. ผู้บริโภคจงใจประจาน มิได้ตั้งใจจะแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น แต่หวังผลระบายอารมย์ทำให้ธุรกิจเสื่อมเสียชื่อเสียง


 


ผู้เขียนมิได้ต้องการให้ผู้บริโภคแก้ปัญหาด้วยการประจาน แต่อยากให้ลองทำตามขั้นตอนให้ถูกต้องเสียก่อน บางเรื่องอาจต้องใช้เวลา หรือบางเรื่องอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการประจาน ส่วนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองก็คงต้องปรับปรุงประสิทธิภาพให้มากขึ้น หรือกลุ่มธุรกิจเองก็ต้องมีมาตรฐานในการให้บริการที่สม่ำเสมอ อย่ามัวคิดกันว่า "ถ้าไม่ประจาน ปัญหาจะไม่ถูกแก้" กันเลยครับ เพราะยุคนี้ที่เป็นยุคของการสื่อสารไร้พรมแดน แค่"แชะ"เดียว ก็รู้กันทั้งโลกแล้วครับ


 


 


BY:DJ. อภิสุข เวทยวิศิษฏ์
X