กระทรวงสาธารณสุข เตือนประชาชนช่วงฤดูร้อน 'เสี่ยงเกิดโรคลมแดด (Heat Stroke)' แนะดื่มน้ำให้มากขึ้น และเลี่ยงทำกิจกรรมกลางแดดจัดเป็นเวลานาน

08 มีนาคม 2564, 08:47น.


     กระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนแล้ว ส่งผลให้มีสภาพอากาศร้อนจัด แดดแรง อาจเกิดอาการป่วยได้ง่าย พบอาการได้ตั้งแต่อาการเล็กน้อย เช่น ผื่น ผดแดด บวมแดด ตะคริวแดด การเกร็งจากแดด ส่วนอาการที่รุนแรงพบได้ เช่น เพลียแดด ภาวะขาดน้ำที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat Stroke) โดยจะมีอาการอ่อนเพลีย คลื่นไส้อาเจียน ไม่มีเหงื่อออก ตัวร้อนจัด ปวดศีรษะ ชีพจรเต้นเร็ว ความดันโลหิตลดลง และอาจทำให้เสียชีวิตได้ทันทีหากได้รับความร้อนมากเกินไป และไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างถูกวิธี



     สำหรับการดูแลตนเองในสภาพอากาศร้อน และแดดแรง โดยเฉพาะ 6 กลุ่มเสี่ยง ได้แก่

1. ผู้ที่ทำงานหรือทำกิจกรรมกลางแดด

2. เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีและผู้สูงอายุ

3. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจโรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง

4. คนอ้วน

5. ผู้ที่พักผ่อนไม่เพียงพอ

6. ผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก

     ควรหลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดจัด สวมใส่เสื้อผ้ามีสีอ่อนไม่หนา ระบายความร้อนได้ดี สวมแว่นกันแดด สวมหมวก กางร่ม ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 6-8 แก้ว หากจำเป็นต้องทำงานกลางแจ้งหรือกลางแดด ไม่ปล่อยให้ร่างกายขาดน้ำจนรู้สึกกระหายหรือริมฝีปากแห้ง  ที่สำคัญให้หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

     ทั้งนี้ หากพบผู้มีอาการสงสัยว่าเจ็บป่วยจากสภาวะอากาศร้อน ควรปฐมพยาบาลเบื้องต้น โดยรีบนำผู้ป่วยเข้าในที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ให้ดื่มน้ำเย็น ให้นอนราบและยกเท้าทั้งสองข้างขึ้นสูง ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าช่วยระบายความร้อน เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายให้ต่ำลงโดยเร็วที่สุด ถ้ามีอาการรุนแรง หมดสติ ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หรือโทรสายด่วน 1669
X