เนื่องในวันมาฆบูชาพุทธศาสนิกชนหลายคนมีความประสงค์ในการทำบุญตักบาตรสร้างความเป็นสิริมงคล รวมถึงเวียนเทียนร่วมกิจกรรม แต่ทว่าการใส่ใจคุณค่าทางโภชนาการของพระสงฆ์ – สามเณรเป็นเรื่องที่ควรใส่ใจ ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์จึงได้ออกมาแนะนำการเตรียมอาหารทำบุญตักบาตรเพื่อสุขภาพ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทำไมเราถึงต้องใส่ใจอาหารที่นำไปทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ – สามเณร
พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมจัดเตรียมอาหารไปทำบุญตักบาตรถวายแด่พระสงฆ์ – สามเณรเนื่องใน “วันมาฆบูชา” เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งอาหารที่พุทธศาสนิกชนจัดเตรียมมานั้นมีความสำคัญต่อสุขภาพพระสงฆ์เป็นอย่างมาก จึงควรพิถีพิถันในการเลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพที่สุด เนื่องจากพระสงฆ์ไม่สามารถเลือกฉันอาหารที่พุทธศาสนิกชนถวายได้ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้พระสงฆ์อาพาธด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับภาวะโภชนาการ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง และโรคไขมันในเลือดสูง เป็นต้น
เลือกอาหารที่มีประโยชน์เพื่อสุขภาพของพระสงฆ์ – สามเณร
สำหรับอาหารที่พุทธศาสนิกชนนิยมนำมาตักบาตร หรือถวายแด่พระภิกษุสงฆ์นั้น มักจะประกอบไปด้วย อาหารคาว หวาน เป็นหลัก ซึ่งอาหารถือเป็นปัจจัยที่สำคัญต่อสุขภาพของพระสงฆ์ เนื่องจากการฉันภัตตาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ จะส่งผลให้แนวโน้มการอาพาธของพระสงฆ์เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นการทำบุญควรจะเป็นส่วนหนึ่งในการดูแลภาวะโภชนาการให้ห่างไกลจากโรค เพื่อสุขภาพที่ดีของพระสงฆ์ โดยการทำบุญตักบาตรด้วยอาหารสุขภาพ ครบ 5 หมู่ ลดอาหารที่มีรสหวาน มัน และเค็ม มากเกินไป ควรเลือกใช้ข้าวกล้องแทนข้าวขาว เพิ่มผักและผลไม้ ถวายเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลน้อยหรือปราศจากน้ำตาล เช่น นมจืด นมถั่วเหลือง
ทั้งนี้ กรมอนามัยห่วงใยในเรื่องการเวียนเทียนร่วมกิจกรรมวันมาฆบูชาซึ่งเป็นการรวมกลุ่มคนเป็นจำนวนมาก อย่าลืมสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสผู้อื่นหรือสัมผัสกับสิ่งของที่ต้องสัมผัสร่วมกัน เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได ไม้ตีระฆัง กระบอกเซียมซี รวมทั้งห้องน้ำโดยเฉพาะบริเวณสายฉีดชำระ ที่กดโถส้วม โถปัสสาวะ เว้นระยะห่างระหว่างบุคคลขณะทำกิจกรรมร่วมกันในวัด และหากพบว่าตนเองมีไข้ ไอ จาม หรือมาจากพื้นที่เสี่ยงควรงดร่วมกิจกรรม
ข้อมูล : กรมการแพทย์, กรมอนามัย