ร่างกายมี “รอยฟกช้ำ” สามารถใช้ยาหม่องทาได้ จริงหรือ?

08 กุมภาพันธ์ 2564, 15:42น.


            เชื่อว่าหลายๆ คนเมื่อเผลอเดินไปชนหรือกระแทกของแข็งจนร่างกายเกิดรอยฟกช้ำก็มักจะหยิบยาหม่องมาทาเสมอ แต่ถึงกระนั้นเมื่อทาไปแล้วบางคนกลับแสบร้อนจนเกิดความสงสัยว่าแท้จริงแล้วการใช้ยาหม่องทารอยฟกช้ำทำได้จริงหรือ? ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและ (อย.) จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับการใช้ยาหม่องกับรอยฟกช้ำ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            รอยฟกช้ำใช้ยาหม่องทาได้ จริงหรือ?


            ต้องบอกก่อนเลยว่า “รอยฟกช้ำ” ที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุมาจากร่างกายได้รับแรงกระแทก เช่น ถูกชน ถูกตี ทำให้หลอดเลือดแตก และขยายตัวทำให้มีเลือดมาเลี้ยงยังบริเวณที่ถูกกระแทก เกิดเลือดคั่งใต้ผิวหนังปรากฏเป็นรอยฟกช้ำ

            ซึ่งความสงสัยที่ว่าเมื่อเกิดรอยฟกช้ำใช้ยาหม่องทาได้จริงหรือไม่ ขอตอบตรงนี้เลยว่า “ไม่จริง” และที่มากไปกว่านั้นยาหม่องทำให้เกิดความร้อนส่งผลให้หลอดเลือดขยายตัวมากขึ้น กระตุ้นให้เลือดมารวมตัวกันมากขึ้นกลายเป็นว่าทำให้อาการฟกช้ำแย่ลงได้ ดังนั้น หากฟกช้ำจึงไม่ควรทายาหม่อง

            
 เกิดอาการฟกช้ำ ปวด บวม ควรปฐมพยาบาลอย่างไร?

            เมื่อเกิดอาการฟกช้ำ ปวด บวม การปฐมพยาบาลอย่างถูกวิธีจะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ โดยสามารถปฏิบัติตามได้ ดังนี้



            - 48 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยน้ำเย็น หรือประคบด้วยน้ำแข็ง 2-3 ครั้ง  ครั้งละ 15-30 นาที



            - เมื่อพ้น 48 ชั่วโมงแล้ว ประคบร้อนต่อ 2-3 ครั้ง  ครั้งละ 15 นาที โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายเองได้ภายใน 2 สัปดาห์

            อย่างไรก็ตาม หากร่างกายเกิดการกระแทกรุนแรง แล้วรู้สึกปวดมากจนทนไม่ไหว หรือกระแทกโดนอวัยวะสำคัญ อย่าปล่อยทิ้งไว้ และแนะนำให้ไปพบแพทย์ทันที



 



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)





 



 

X