ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ลงพื้นที่เยี่ยมชมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี พร้อมย้ำปฏิบัติตามมาตรการลดฝุ่นจากการก่อสร้างอย่างเคร่งครัด

01 กุมภาพันธ์ 2564, 17:39น.


     นายธีรภัทร ประยูรสิทธิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการสื่อสารการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ และประธานคณะกรรมการตรวจสอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พร้อมด้วย นายเถลิงศักดิ์ เพชรสุวรรณ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ นายวรพล จันทร์งาม รองอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ดร.พรศรี สุทธนารักษ์ ผู้อำนวยการกองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง กรมควบคุมมลพิษ และคณะทำงาน ลงพื้นที่เยี่ยมชม ตรวจติดตามการปฏิบัติงานเชิงรุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี เพื่อตรวจติดตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี บริเวณสถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01) และบริเวณสถานีแจ้งวัฒนะ - ปากเกร็ด 28 โดยมีนายปกรณ์ เกตุแย้ม หัวหน้าแผนกวางแผนโครงการ ตัวแทนจาก การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นายปริญญา ศรีสมบูรณ์ และ นายสาธิต วัชรจรัสกุล วิศวกรโครงการ ให้การต้อนรับ พร้อมรายงานผลการดำเนินงานการก่อสร้างที่เป็นไปตามแผน ภายใต้มาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม 




     โดย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ได้มอบนโยบายเพิ่มเติม เพื่อนำมาปรับใช้ในการดำเนินงานโครงการฯ ให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากยิ่งขึ้น เช่น ติดตั้งจุดสเปรย์น้ำเพิ่มเติมจากการที่มีการติดตั้งไว้อยู่แล้ว เพิ่มความถี่ในการพรมน้ำพื้นผิวพื้นที่ก่อสร้างโครงการฯ เพื่อลดฝุ่นละออง เป็นต้น 




     ทั้งนี้ โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูฯ ได้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด อาทิ จัดให้มีรถดูดฝุ่นเพื่อทำความสะอาดถนนสาธารณะตามแนวเส้นทางโครงการ การล้างทำความสะอาดถนนเป็นประจำ การทำความสะอาดล้อรถก่อนออกจากพื้นที่ก่อสร้าง การตรวจสอบสภาพเครื่องจักร/รถบรรทุก ประสานขอความร่วมมือผู้รับจ้างงดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง และติดตั้งเครื่องฉีดพ่นละอองน้ำแรงดันสูง ทั้งสิ้น 11 จุด ได้แก่ บริเวณสถานีแคราย สถานีกรมชลประทาน สถานีเลี่ยงเมืองปากเกร็ด สถานีแจ้งวัฒนะ-ปากเกร็ด 28 สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ ทางวิ่งระหว่างสถานีทีโอที-สถานีหลักสี่ สถานีราชภัฏพระนคร สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ สถานีวงแหวนรามอินทรา ทางวิ่งระหว่างสถานีวงแหวนรามอินทรา-สถานีนพรัตน์ และสถานีตลาดมีนบุรี รวมทั้งประสานตำรวจจราจรอย่างใกล้ชิดในการจัดการจราจรบริเวณแนวสายทางที่มีการดำเนินงานก่อสร้าง เพื่อช่วยให้รถยนต์สามารถสัญจรผ่านคล่องตัวมากขึ้น เพื่อช่วยลดปัญหาฝุ่น PM 2.5 และลดผลกระทบอันอาจเกิดจากการก่อสร้าง
X