“ลักษณะ – การป้องกัน” ผู้ป่วย COVID – 19 ระลอกใหม่ แบบไม่มีอาการ

21 มกราคม 2564, 15:20น.


            ในช่วงที่การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID – 19 มีอัตราการติดเชื้อค่อนข้างสูง ซึ่งหากลองสังเกตดูจะพบว่าบางคนกักตัวเองครบ 14 วัน แทบไม่มีอาการแสดงใดๆ เลยแต่กลับตรวจพบเชื้อในร่างกายเสียได้ พาให้เกิดความกังวลโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงสัมผัส หรืออยู่ในสถานที่นั้นๆ ตามไทม์ไลน์ที่ผู้ป่วยเดินทางไป ด้วยความห่วงใยจาก ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับผู้ป่วย COVID – 19 ระลอกใหม่ แบบไม่มีอาการ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง

            ลักษณะของผู้ป่วยแบบไม่มีอาการ


            1. เชื้อไวรัสแบ่งตัวได้ดีในจมูก และระบบทางเดินหายใจ

            2. พบเชื้อ COVID – 19 จำนวนมากได้ในโพรงจมูก

            3. ปริมาณเชื้อที่ตรวจพบในผู้ป่วยมีมากกว่าผู้ป่วยในระลอกแรก

            4. แพร่กระจายเชื้อเป็นวงกว้าง ผ่านการไอและจาม

            5. สามารถแพร่เชื้อได้ง่ายกว่าผู้ป่วยมีอาการ

            อันตรายเมื่อผู้ป่วยปกปิดข้อมูลการเดินทาง

            กรณีที่ผู้ป่วยปกปิดข้อมูลการเดินทางนั้นจะทำให้แพทย์ผู้ทำการรักษาอาจไม่ส่งตรวจเพื่อค้นหาโรค COVID – 19 ซึ่งอาจทำให้การวินิจฉัยเป็นโรคอื่นที่ทำให้เกิดปอดอักเสบ แพทย์เองก็มีการสั่งการรักษาด้วยการบริการยาโดยวิธีพ่นละอองทำให้เชื้อกระจายในโรงพยาบาล เป็นเหตุให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อภายในโรงพยาบาลสูงมาก

            การป้องกันผู้ป่วย COVID – 19 ระลอกใหม่ แบบไม่มีอาการ

           สำหรับผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงควรกักตัว 14 วัน เพื่อความปลอดภัย และเดินทางมาตรวจหาเชื้อทันที หากทราบว่าเป็นผู้เสี่ยงสูงแม้มีหรือไม่มีอาการก็ตาม รวมถึงไม่ปกปิดข้อมูลการเดินทางและประวัติที่มีความเสี่ยงกับบุคลากรทางการแพทย์


            การแพร่ระบาด COVID – 19 ระลอกใหม่นี้อาจทำให้มีผู้ป่วยแบบไม่มีอาการค่อนข้างสูง แต่หากเราที่ยังมีสุขภาพแข็งแรงดี ควรตั้งการ์ดป้องกันตัวเองให้ดีที่สุด อย่าง การสวมหน้ากากอนามัยทั้งแบบทางการแพทย์หรือแบบผ้า หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์/สบู่อย่างน้อย 30 วินาที กินอาหารปรุงสุกร้อนๆ และใช้ช้อนกลางเมื่อรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นแม้จะเป็นคนในครอบครัว



 



ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

X