กรณีพบการระบาดของยาเสพติด “ยาเคนมผง” จนทำให้มีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 6 คน และได้รับอันตรายต่อสมองอีกจำนวนหนึ่ง สร้างความตกใจและเป็นกังวลถึงอันตรายอย่างมาก ด้วยความห่วงใยจาก รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับฤทธิ์ของยาเคนมผง สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
“ยาเคนมผง” ฤทธิ์รุนแรงทำลายสมอง
จริงๆ แล้วยาเค หรือ เคตามีน (ketamine) เป็นสารในกลุ่มหลอนประสาท ที่ใช้ในการผ่าตัด เพื่อให้ผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว แต่ถูกนำฤทธิ์มาใช้ในทางที่ผิด ซึ่งยาเคจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลางโดยทำงานต้านการออกฤทธิ์ที่ตัวรับ N-methyl-D-aspartate (NMDA) receptor ในสมอง สำหรับผู้ใช้ยาเคจะเกิดอาการต่อจิตประสาท ทำให้การรับรู้ตนผิดปกติไป ในผู้ใช้บางรายจะเกิดอาการประสาทหลอนได้ในช่วงที่เป็นพิษจากสาร
ในส่วนยาเคนมผงผู้ค้ายาเสพติดได้ปลอมปนสารหลอนประสาทหลายชนิดอื่นลงไปด้วย ซึ่งอาจทำให้สารหลักออกฤทธิ์เพิ่มขึ้นหรือลดลง เพราะมีความเชื่อว่าจะทำให้เกิดความรู้สึกอารมณ์แตกต่างไปจากเดิม ทำให้ยิ่งมีฤทธิ์หลอนประสาทที่รุนแรงยิ่งขึ้น และเพิ่มความอันตรายยิ่งขึ้น ซึ่งต้องรอพิสูจน์สารที่ชัดเจนต่อไป แต่ถึงอย่างไรการใช้สารเสพติดโดยเฉพาะกลุ่มสารที่ไม่ทราบชนิดที่แน่นอน หรือสารที่ผลิตสังเคราะห์มาใหม่ หรือใช้สารที่ผสมหลายชนิด มักทำให้เกิดอาการทางกายและทางจิตที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เพราะสารเกิดปฏิกิริยาระหว่างกัน นอกจากมีสิ่งปลอมปนที่เป็นอันตราย
กรณีพบผู้ใช้สารที่มีอาการเป็นพิษ เช่น หมดสติ หายใจช้าหรือหยุดหายใจ หรือการรับรู้สติสัมปชัญญะสับสน ไม่ทราบวัน เวลา สถานที่ที่ตนอยู่ ให้รีบส่งสถานพยาบาลใกล้บ้านโดยเร็วที่สุด หรือเรียกรถฉุกเฉิน เพื่อรับยาแก้ เช่น ยา naloxone ที่สถานพยาบาล ทั้งนี้ ระหว่างการนำส่งหรือรอรถแล้วพบผู้ป่วยมีภาวะหัวใจหยุดเต้น หรือหยุดหายใจจำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักการกู้ชีพ อย่างการทำ CPR ตามมาตรฐานทั่วไปร่วมด้วย
ข้อมูล : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)