การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ระลอกใหม่นี้ อาจทำให้ผู้ที่กำลังรักษาปัญหาด้านสุขภาพจิตหลายคนรู้สึกกังวลและไม่กล้าที่จะเดินทางมายังโรงพยาบาล ซึ่งเป็นเหตุให้ขาดการรักษาและรับประทานยาต่อเนื่อง ดังนั้น คนในครอบครัวจึงต้องช่วยกันดูแลอย่างที่สุด ระวังอย่าให้ขาดยา และด้วยความห่วงใยจากกรมสุขภาพจิต จึงได้ออกมาแนะนำการดูแลผู้ป่วยอย่างเหมาะสม พร้อมแนะนำข้อควรปฏิบัติต่อผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีความเครียด สร้างความเข้าใจกันและกันมากขึ้น
“ผู้ป่วยจิตเวช” ช่วง COVID – 19 ระวังอย่าขาดยา
สำหรับผู้ป่วยจิตเวชในช่วงของการแพร่ระบาด COVID – 19 สูงขึ้นเรื่อยๆ อาจมีเกณฑ์ต้องแยกกักตัวเองที่บ้านเนื่องจากมีความเสี่ยงในการสัมผัสโรค ไม่สามารถเข้ารับการรักษา รวมถึงรับยา ดังนั้น เพื่อให้ได้รับยาอย่างต่อเนื่องผู้ป่วยควรนับจำนวนและเตรียมยาให้เพียงพอ โดยพยายามไม่ขาดยา หากใครกำลังอยู่ในระหว่างการแยกกักตนเองที่บ้าน แล้วพบว่ายาที่มีอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อช่วงระยะเวลาการแยกกักที่เหลือ สามารถให้ข้อมูลเรื่องอาการของตนเองกับญาติ และมอบหมายญาติเพื่อมาพบจิตแพทย์เพื่อปรึกษาและรับยาจิตเวชแทนได้ที่โรงพยาบาลจิตเวช
คนในครอบครัวควรปฏิบัติอย่างไรต่อผู้ป่วยทางจิตเวชที่มีความเครียด
ช่วงที่ผู้ป่วยจิตเวชมีความเครียดและรู้สึกวิตกกังวลมากขึ้นนี้ คนในครอบครัวควรเอาใจใส่ดูแลผู้ป่วยจิตเวชอย่างใกล้ชิดมากขึ้น พูดคุยทำความเข้าใจซึ่งกันและกันเกี่ยวกับความกังวลใจ หากผู้ป่วยจิตเวชมีอาการด้านสุขภาพจิตรุนแรงมากขึ้นในขณะนี้ ขอให้ผู้ดูแลรีบโทรแจ้งไปยังสถานพยาบาลที่ทำการรักษาด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยอยู่เดิม เพื่อประเมินความเสี่ยงและเป็นการเตรียมความพร้อมของเจ้าหน้าที่หากมีความจำเป็นต้องเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมายังห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลจิตเวช
การป้องกันความเสี่ยงช่วงแพร่ระบาดของเชื้อโควิด – 19 ควรสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย ล้างมือสม่ำเสมอ กินอาหารร้อน ใช้ช้อนกลางส่วนตัว หลีกเลี่ยงไปในที่แออัด ทั้งนี้ พยายามควบคุมสติและอารมณ์ของตนเอง หาเวลาผ่อนคลายความเครียด และพูดคุยกับเพื่อนหรือคนใกล้ชิดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม หากมีข้อสงสัยเกิดความเครียด ท้อแท้ หรือวิตกกังวลมากเกินไป สามารถโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง
ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต