อย.เตือน! “ยาทาและสเปรย์กันยุง” ไม่ควรใช้กับเด็กอายุต่ำกว่า 2 เดือน เสี่ยงระคายเคืองผิว

03 ธันวาคม 2563, 15:41น.


            “ยุง” ถือเป็นศัตรูตัวฉกาจ พาหะนำโรคโดยเฉพาะกับลูกน้อย แน่นอนว่าหากเด็กเล็กถูกยุงกัดจะมีอาการแพ้ยุงได้ง่าย เพราะภูมิต้านทานยังไม่มากพอ พ่อแม่ผู้ปกครองหลายคนจึงหาวิธีป้องกันหนึ่งในนั้นคือใช้ยาทา หรือสเปรย์กันยุง ทว่าการเลือกใช้ยา หรือสเปรย์กันยุงนั้นเหมาะสมกับช่วงวัยแล้วจริงหรือ? และเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง วันนี้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงจะเป็นผู้อธิบายถึงข้อสงสัยนี้

            ยาทาและสเปรย์กันยุง เด็กเล็กพึงระวัง


            สารออกฤทธิ์ในครีม โลชั่น หรือสเปรย์กันยุงแต่ละชนิดมักไม่แตกต่างกันมากนัก โดยทั่วไปจะเป็นสารเคมี เช่น ดีอีอีที (DEET), อิคาริดิน (Icaridin), เอทิลบิวทิลอะซิทิลอะมิโนไพโอเนต (Ethyl Butylacetylaminopropionate) หรืออีกชื่อ คือ ไออาร์ 3535 (IR 3535) เป็นต้น ซึ่งสารออกฤทธิ์แต่ละชนิดมีข้อแนะนำการใช้ในเด็กที่แตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับอายุเด็ก ชนิด และความเข้มข้นของสารออกฤทธิ์ ได้แก่



1. ดีอีอีที (DEET)  



            - ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 30%



            - ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี สำหรับความเข้มข้นไม่เกิน 50%



            - ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี สำหรับความเข้มข้นสูง ๆ เช่น 95%



2. อิคาริดิน (Icaridin) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

3. ไออาร์ 3535 (IR 3535)



            - ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี สำหรับความเข้มข้นมากกว่า 12.5%



            - ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี สำหรับความเข้มข้นเท่ากับ หรือน้อยกว่า 12.5%



4. น้ำมันตะไคร้หอม (Citronella oil) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 4 ปี



5. น้ำมันยูคาลิปตัส (Eucalyptus oil) ไม่ควรใช้ในเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี



            ข้อควรรู้ : ผลิตภัณฑ์กันยุงที่มีน้ำมันหอมระเหย หรือสารสกัดจากธรรมชาติ เป็นสารออกฤทธิ์ไล่ยุง ไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ อย. (ยกเว้น Citronella oil) ไม่ได้ถูกบังคับให้ผ่านการประเมินผลทดสอบประสิทธิภาพ ดังนั้นในการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กันยุง ผู้บริโภคจึงควรเลือกอย่างมีวิจารณญาณ โดยเฉพาะประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์

            คำแนะนำในการใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงกับเด็ก


            การใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กควรให้ผู้ใหญ่เป็นคนทาให้ ไม่แนะนำให้เด็กใช้เอง และไม่ควรพ่นหรือฉีดใส่มือเด็ก หากต้องการทาบริเวณใบหน้าห้ามพ่นไปที่ใบหน้าโดยตรง ให้พ่นใส่ฝ่ามือก่อนแล้วจึงค่อยนำไปทาที่ใบหน้า และไม่ให้ทาบริเวณเนื้อเยื่ออ่อน เช่น ริมฝีปาก รอบดวงตา หรือบริเวณแผล ทั้งนี้ หลังจากใช้งานเสร็จหรือกลับมาอยู่ในห้องควรล้างผิวหนังบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ออกให้สะอาดด้วยน้ำและสบู่

            นอกจากนี้ ผลิตภัณฑ์กันยุงต้องใช้ในยามจำเป็นเท่านั้น ไม่ควรใช้ติดต่อกันเป็นประจำ และใช้ในปริมาณมาก ที่สำคัญจะต้องปฏิบัติตามวิธีใช้ รวมถึงคำเตือนบนฉลากอย่างเคร่งครัด

            
อย่างไรก็ดี ห้ามใช้ผลิตภัณฑ์กันยุงในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 เดือน หากต้องการป้องกันยุงแนะนำให้ใช้วิธีอื่นๆ แทน เช่น สวมเสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ใส่ถุงเท้า กางมุ้ง และห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ที่มีกลิ่นหอมกับเด็ก เช่น สบู่ น้ำหอม รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใส่ชุดที่มีสีสว่าง หรือพิมพ์ลายดอกไม้เพราะจะดึงดูดยุง



 



ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)





 

X