อาการป่วยทางจิตนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ ทว่า “โรคมโน” จะใช่อาการคิดไปก่อน คิดไปเองหรือเปล่า แล้วเป็นอาการป่วยทางจิตที่มีอยู่จริงหรือไม่? และเพื่อให้ทุก ๆ คนเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องให้ อ.พญ.เมธินี ศรีเฟื่องฟุ้ง ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นผู้ออกมาไขข้อสงสัยนี้กัน
โรคมโน อาการป่วยทางจิตที่มีอยู่จริงหรือไม่?
“โรคมโน” หรือ Pathological Liar มีอยู่จริง ซึ่งเป็นปัญหาทางสุขภาพจิตอย่างหนึ่งมักพบในผู้ป่วยที่เป็นวัยรุ่นตอนกลางไปจนถึงวัยผู้ใหญ่ตอนต้น นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีปัญหาด้านบุคลิกภาพ เช่น ขาดความมั่นใจ ต้องการการยอมรับจากสังคม หรือต่อต้านสังคม ไม่ใช่อาการมโนที่หลายๆ คนเข้าใจว่าคิดไปก่อน คิดไปเองนะ
ทำความเข้าใจ! สาเหตุและอาการของผู้ป่วยโรคมโน
สาเหตุของโรคมโนนั้นมาจากการที่ผู้ป่วยต้องการหนีปัญหา หรือมีความต้องการเติมเต็มในสิ่งที่ตัวเองขาดหายไปโดยการใช้จินตนาการในแบบที่ตัวเองอยากให้เป็น ซึ่งอาการของผู้ป่วยโรคมโนที่เข้าข่ายภาวะทางจิตเวชคือผู้ป่วยมักสร้างเรื่องที่ทำให้ตัวเองดูดี น่าสนใจอยู่เสมอ เพื่อให้คนอื่นเกิดความประทับใจ หรือบางครั้งก็อาจจะใส่ร้ายผู้อื่นไปด้วย ซึ่งมักจะเป็นมาอย่างยาวนาน แนบเนียนต่อเนื่องจนหลายปีเข้าผู้ฟังก็ยังไม่สามารถจับได้
หากคนใกล้ชิดป่วยโรคมโนจะจัดการอย่างไร?
การรักษาโรคมโนส่วนใหญ่แล้วจะใช้วิธีจิตบำบัด หรือให้ยาคลายเครียด ยาต้านเศร้า ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอาการร่วมของผู้ป่วย ที่สำคัญที่สุดคือบุคคลรอบข้างไม่ควรไปต่อว่า ดุด่าผู้ป่วยตรง ๆ เพราะอาจทำให้โกหกเพิ่มมากขึ้นหรือหลีกหนีจากเราไปเลย แนะนำให้ทำความเข้าใจในเบื้องลึกของจิตใจ ผู้ป่วยหนีอะไรมาหรือต้องการอะไรที่จะช่วยให้มีความสุข ไม่ต้องโกหกขึ้นมาเพื่อให้ผู้อื่นยอมรับ เช่น การได้รับความรัก การดูแลเอาใจใส่ ซึ่งหากเป็นเรื่องเหล่านี้ควรให้อย่างเต็มประสิทธิภาพไม่ทำให้ผู้ป่วยโกหกอีกต่อไป
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าทุก ๆ จะเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง และหากมีผู้ใกล้ชิดป่วยด้วยโรคดังกล่าวควรพาไปพบแพทย์เพื่อให้ได้รับการรักษาที่เหมาะสม รวมถึงช่วยกันปฏิบัติตามคำแนะนำเพื่อไม่ให้ป่วยผู้โกหกหรือใส่ร้ายผู้อื่นอีกต่อไป
คลิปจาก : Siriraj Channel