ทำอย่างไร? เมื่อ 'งูพิษ' กัด

23 พฤศจิกายน 2563, 16:00น.


     การปฐมพยาบาล หากถูกงูกัดอย่าเพิ่งตกใจ ให้ตั้งสติ ดูลักษณะของงูหรือถ่ายรูปงูเอาไว้ และร้องขอความช่วยเหลือ ไม่แนะนำให้ขันชะเนาะ (tourniquet) เพราะไม่สามารถป้องกันการดูดซึมพิษงูได้ และถ้ารัดแน่นเกินไปอาจทำให้เกิดเนื้อเน่าตายได้ จึงควรรีบมาโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด โดยขยับส่วนที่ถูกกัดให้น้อยที่สุด เพื่อลดการดูดซึมพิษงู และหากถูกงูเห่าพ่นพิษเข้าตา ควรล้างตาด้วยน้ำสะอาดปริมาณมาก สำหรับผู้ป่วยที่ถูกงูที่มีพิษต่อระบบประสาทกัด อาจเป็นอัมพาตทั่วตัวคล้ายกับเสียชีวิตแล้ว ไม่ควรหยุดการช่วยเหลือ ให้รีบส่งผู้ป่วยไปโรงพยาบาล เพื่อช่วยการหายใจโดยเร็วที่สุด



     การรักษา แพทย์จะทำการตรวจร่างกายและตรวจเลือด บางรายยังไม่มีอาการของพิษ เมื่อมาถึงโรงพยาบาลจึงต้องสังเกตอาการต่อจนกว่าจะพ้นระยะอันตราย การให้เซรุ่มต้านพิษงูมีประโยชน์ แต่ก็เสี่ยงต่อการแพ้ และบางครั้งงูมีพิษกัดแต่ไม่ปล่อยพิษทำให้ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการใด ๆ แพทย์จึงเลือกให้เซรุ่มเฉพาะรายตามความเหมาะสม

     เซรุ่มต้านพิษงูจะช่วยเรื่องกล้ามเนื้ออ่อนแรง และเลือดออกให้ดียิ่งขึ้นได้ แม้ผู้ป่วยจะได้เซรุ่มแล้ว บางรายอาจยังเกิดเนื้อเน่าตายหรือไตวายต่อมาภายหลังได้ จึงอาจต้องอาศัยการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การผ่าตัดเนื้อตายออก การให้สารน้ำหรือการล้างไต เพื่อป้องกันและรักษาภาวะไตวาย เป็นต้น




 


ข้อมูล : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย
X