ภาวะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ “ปวดปัสสาวะ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมง – กลางคืนลุกเข้าห้องน้ำประจำ” รบกวนการใช้ชีวิต ควรพบแพทย์เพื่อทำการรักษา

05 พฤศจิกายน 2563, 15:57น.


           คุณกำลังประสบอาการเหล่านี้อยู่หรือเปล่า? “ปวดปัสสาวะ 2-3 ครั้งต่อชั่วโมงไม่เป็นอันทำอะไร ทุกครั้งที่ปวดต้องเข้าห้องน้ำให้ได้” แน่นอนว่าล้วนสร้างความทุกข์ทรมานและความรำคาญให้กับผู้ที่เป็นอยู่อย่างมาก ซึ่งหากคุณประสบปัญหาเหล่านี้อยู่อย่านิ่งนอนใจเด็ดขาด เพราะคุณกำลังเข้าข่ายภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป!! และด้วยความห่วงใยจากศ.นพ.วชิร คชการ สาขาวิชาศัลยศาสตร์ระบบปัสสาวะ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาอธิบายสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับภาวะปัสสาวะบ่อย จะเป็นอย่างไรไปติดตามกันเลย

            ทำความรู้จัก “ภาวะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ”


            ในภาวะคนปกติเมื่อมีน้ำอยู่ในกระเพาะปัสสาวะในปริมาณครึ่งหนึ่งจะเริ่มรู้สึกหน่วงๆ ยังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่าปวด สามารถอั้นได้จนกว่าจะมีน้ำเต็มกระเพาะปัสสาวะ จนเกิดการบีบตัวและปวดในที่สุด เมื่อปวดจัดๆ ก็เข้าห้องน้ำถ่ายตามปกติ

            แต่ถ้าหากเป็นคนที่ผิดปกติหรือมีภาวะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ (ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวไวเกินไป) จะรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อยเกือบทุกชั่วโมง หากเป็นเวลากลางคืนจะนอนไม่เพียงพอเพราะต้องลุกมาเข้าห้องน้ำทั้งคืน ซึ่งกระเพาะปัสสาวะจะเกิดการบีบตัวทั้งที่น้ำยังไม่เต็มกระเพาะปัสสาวะ เมื่อขับถ่ายออกมาจะมีปริมาณน้อยสวนทางกับอาการปวด และอาจกลั้นไม่อยู่จนต้องปล่อยราดออกมา

            สาเหตุภาวะปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ


            สาเหตุที่แท้จริงยังไม่แน่ชัด แต่สามารถสรุปได้คร่าว ๆ ได้ว่ามีบางอย่างรบกวนการทำงานของกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบประสาทควบคุมที่ทำให้มีการบีบตัวไวเกินไป เช่น อุปนิสัย เครื่องดื่มบางชนิด รวมถึงการใช้ชีวิต อย่าง บางคนอาจมีภาวะที่ต้องกลั้นปัสสาวะอยู่เรื่อยๆ รวมถึงอาหารบางอย่างที่มีคุณสมบัติในการเร่งการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะ เช่น กาเฟอีน เครื่องดื่มที่มีรสจัด โซดา อาหารที่รสจัด เครื่องเทศ วาซาบิ เป็นต้น

            วิธีการรักษาภาวะปัสสาวะบ่อยเป็นอย่างไร?

            สำหรับการรักษาจริงๆ แล้วแพทย์จะทำการตรวจหาโรคอื่นก่อน เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ กระเพาะปัสสาวะมีเม็ดเลือดแดงปะปน หรืออาจตรวจเลือดหาความผิดปกติ นิ่วหรือก้อนเนื้องอก และตรวจดูการทำงานของไตว่ามีความบกพร่องหรือมีการกลั่นปัสสาวะบ่อยเกินไปหรือไม่ เป็นต้น

            หากตรวจหาแล้วไม่พบอาจต้องให้คนไข้จดบันทึกว่าภายใน 24 ชั่วโมง ปริมาณการดื่มน้ำ ชนิดของเครื่องดื่ม เช่น น้ำเปล่า น้ำส้ม กาแฟ เป็นต้น ปัสสาวะกี่ครั้ง ช่วงเวลาที่ปัสสาวะ มีอาการอื่นๆ โดยจะทำการจดบันทึกเป็นระยะเวลา 3 วัน จากนั้นแพทย์จะประเมินจากข้อมูลเหล่านั้น เพื่อหาสาเหตุของการขับถ่ายปัสสาวะที่บ่อยกว่าคนปกติ กรณีพบว่าเป็นที่พฤติกรรมของคนไข้เองก็จะมีการปรับพฤติกรรม กรณีที่ยังไม่พบสาเหตุจะมีการตรวจร่างกายต่อไป

            
ภาวะปัสสาวะบ่อยสามารถพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่อาจพบที่ช่วงอายุต่างกัน โดยในผู้หญิงมักพบในวัยมหาวิทยาลัย วัยทำงาน ส่วนผู้ชายจะพบเมื่ออายุมากกว่านี้อาจมาจากต่อมลูกหมากโตหรือการทำงานของระบบประสาทเริ่มบกพร่อง ซึ่งหากใครประสบภาวะดังกล่าวแนะนำให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาโดยเร็ว



 



ข้อมูล : สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) : ThaiHealth







 



 



 

X