ไขข้อข้องใจ! ถ้าไม่ขูด “คราบหินปูน” จะเป็นอันตรายอย่างไร?

16 ตุลาคม 2563, 15:32น.


            เมื่อพูดถึงหินปูนหลายๆ คนอาจละเลย คิดว่าไม่ขูดออกก็คงเป็นอะไรหรอก เดี๋ยวแปรงฟันทำความสะอาดฟันก็คงหลุดออกไปเอง ซึ่งจริงๆ แล้วการที่เราปล่อยคราบหินปูนทิ้งไว้ไม่จัดการก่อให้เกิดอันตรายต่อฟันและเหงือกได้ ว่าแต่ถ้าเราไม่ขูด “คราบหินปูน” จะเป็นอันตรายอย่างไร? เรื่องนี้ให้ทพ. ภูมิพัฒน์ ลีชนะวานิชพันธ์ งานทันตกรรม คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ไขปัญหานี้กัน

            หินปูนเกิดจากอะไร?


            หินปูนเกิดจากคราบเศษอาหารอ่อนๆ นิ่มๆ หรือที่เรียกกันว่าคราบจุลินทรีย์ แล้วไม่ได้ทำความสะอาดนานเข้าจึงแข็งตัว ซึ่งอาหารที่เรากินนั้นก็เป็นอาหารของเชื้อโรคในช่องปากด้วย เมื่อคราบจุลินทรีย์มีเชื้อโรคพอปล่อยให้แข็งตัวเป็นหินปูน ข้างในหินปูนก็มีเชื้อโรคเกิดพื้นผิวที่ขรุขระ ไม่เรียบ ไม่ปกติ ฉะนั้นคราบจุลินทรีย์ก็จะมาเกาะซ้ำเข้าไปอีกกลายเป็นว่าเชื้อโรคเต็มไปหมดเลย ลองคิดดูว่าภายในปากสะสมคราบหินปูนเท่ากับสะสมเชื้อโรคทั้งยังเป็นด่านแรกที่พาอาหาเข้าสู่ร่างกายก็คิดดูว่าน่ากลัวขนาดไหน..

            แล้วเชื้อโรคในหินปูนเป็นอันตรายอย่างไร?

            ด้วยความที่หินปูนอยู่ใกล้เหงือกและในตัวเชื้อโรคก็สามารถปล่อยสารพิษได้ ดังนั้น เชื้อโรคก็จะปล่อยสารพิษไปทำลายเหงือก เกิดเหงือกอักเสบ และเมื่อเหงือกอักเสบ กระดูกที่รองรับฟันก็จะละลายตัวเพราะหนีเชื้อโรคไปเรื่อยกลายเป็นเหงือกร่นร่วมด้วย ยิ่งเหงือกร่น แน่นอนว่าพอเหงือกร่นมากๆ ฟันก็จะหลุดได้

            ดังนั้น จึงปฎิเสธไม่ได้เลยว่าการขูดหินปูนมีความจำเป็นอย่างมาก เพราะแม้เราจะทำความสะอาดฟันได้ดีแค่ไหน ก็เป็นเรื่องยากที่จะกำจัดเชื้อแบคทีเรียและเศษอาหารในช่องปากได้ 100% ซึ่งโดยทั่วไปแล้วเราทุกคนควรเข้าพบทันตแพทย์อย่างน้อยทุกๆ 6 เดือน เพื่อตรวจเช็กสภาพช่องปาก รวมถึงขูดหินปูน ช่วยให้ฟันและเหงือกแข็งแรงไม่เป็นอันตรายในอนาคต



 



ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel

X