หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินกันมาบ้างว่าหากมีอาการเลือดกำเดาไหลห้ามเงยหน้า แต่ถึงกระนั้นก็เชื่อว่ายังคงมีคนจำนวนไม่น้อยสงสัยจนตั้งคำถามว่าสิ่งที่บอก สิ่งที่พูดกันบ่อยๆ นี้สรุปแล้วจริงหรือมั่ว? ด้วยความห่วงใยจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงได้ออกมาคลายข้อสงสัย รวมถึงแนะนำการปฏิบัติตัวที่ควรทำลดความเสี่ยงเกิดเลือดกำเดาไหล
เลือดกำเดาไหลเกิดจากอะไร?
การที่เกิดเลือดกำเดาไหลออกมานั้นเกิดจากเส้นเลือดในโพรงจมูกเปราะ และแตกง่าย ซึ่งแต่ละคนจะไม่เหมือนกัน โดยอาการที่พบ มักจะมีเลือดไหลออกจากรูจมูก ซึ่งเลือดที่เห็นสามารถหยุดไหลได้ภายในระยะเวลาสั้น ๆ ทั้งนี้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการเลือดกำเดาไหล ได้แก่
1. อากาศแห้ง
2. แคะจมูก สั่งน้ำมูกแรง
3. จมูกได้รับการกระแทกอย่างรุนแรง
4. การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้โพรงจมูกแห้ง เช่น ยาแก้แพ้ (Antihistamines) เป็นต้น
5. โรคบางชนิด เช่น โรคภูมิแพ้ โรคฮีโมฟีเลย โรคหวัด เป็นต้น
อาการเลือดกำเดาไหลที่เกิดขึ้นรุนแรงหรือไม่?
อาการเลือดกำเดาไหลจริงๆ แล้วเป็นอาการที่ไม่รุนแรง ผู้ที่เป็นสามารถดูแลตนเองได้โดยการห้ามเลือด ซึ่งทำโดยการนั่งตัวตรงอยู่นิ่ง ๆ จากนั้นใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้บีบรูจมูก ก้มหน้าลงเล็กน้อย แล้วหายใจทางปาก ประมาณ 5 นาที ทำจนกว่าเลือดหยุดไหล อาจใช้ผ้าชุบน้ำเย็น หรือผ้าห่อน้ำแข็งวางไว้บริเวณสันจมูก
เลือดกำเดาไหลห้ามเงยหน้า จริงหรือมั่ว?
จากที่มีการพูดกันบ่อยๆ ว่าหากเลือดกำเดาไหลห้ามเงยหน้านั้น “เป็นความจริง” เพราะหากเงยหน้าอาจทำให้กลืนเลือดลงสู่กระเพาะอาหารแล้วทำให้เกิดการอาเจียน จนอาจทำให้อาหารเป็นพิษได้ ดังนั้น ไม่ควรเงยหน้า และหากมีเลือดไหลลงสู่ลำคอ ควรรีบคายเลือดออกมา
สำหรับการปฏิบัติตัวอื่นๆ ที่ควรทำ ได้แก่ พยายามไม่สั่งน้ำมูกแรง ควรหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีอากาศแห้ง และหากต้องมีการใช้ยาแอสไพริน (Aspirin) ยาต้านฮิสตามีน หรือยาแก้คัดจมูก (Antihistamines) ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนใช้ยา เพราะยาเหล่านี้สามารถทำให้จมูกแห้งได้ สุดท้ายใครมีภาวะเลือดกำเดาไหลเป็นประจำ เลือดกำเดามีปริมาณมาก และมีอาการหน้ามืดร่วมด้วยควรรีบไปพบแพทย์
ข้อมูล : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)