!-- AdAsia Headcode -->

กรมการแพทย์เตือน'ฟันผุ'อย่านิ่งนอนใจ ปล่อยทิ้งไว้ เสี่ยงติดเชื้อ อันตรายถึงชีวิต

08 สิงหาคม 2563, 21:10น.


          นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันมีรายงานข่าวชายฟันผุเรื้อรัง ลุกลามจนกระทั่งติดเชื้อรุนแรง เกิดหนองในช่องพังผืดใต้คางและใต้ลิ้นจนปิดช่องปาก และส่งผลกระทบต่อระบบการหายใจของผู้ป่วยเป็นประเด็นสำคัญที่ทุกคนควรใส่ใจสุขภาพช่องปากและฟันของตนเอง เนื่องจากฟันผุ เกิดได้จากหลายสาเหตุ หากปล่อยทิ้งไว้ไม่รีบรักษา อาจลุกลามไปถึงโพรงประสาทฟันทำให้เกิดการอักเสบ และติดเชื้อปลายรากฟัน เกิดเป็นหนองและทะลุออกสู่เนื้อเยื่อข้างเคียง แล้วลามไปส่งผลต่อระบบการกลืนอาหาร การหายใจ หรือการมองเห็น ดังนั้น การป้องกันฟันผุจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ควรหมั่นสังเกตฟันของตนเอง ลดอาหารและเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เลือกอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย  กินอาหารให้เป็นเวลา ไม่ควรกินจุกจิก

         ทันตแพทย์อำนาจ ลิขิตกุลธนพร ผู้อำนวยการสถาบันทันตกรรม กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฟันผุเกิดจากการมีเศษอาหารไปค้างอยู่ตามซอกฟัน หรือมีน้ำตาลจากอาหารที่เรารับประทานสัมผัสกับฟันอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้เชื้อแบคทีเรียที่อยู่บนแผ่นคราบจุลินทรีย์สร้างกรดที่มีฤทธิ์ทำลายผิวฟัน จนกระทั่งทำให้ฟันถูกกัดกร่อนทำลายเป็นรูผุ จากชั้นเคลือบฟันภายนอกเข้าไปในเนื้อฟัน ก็จะทำให้เกิดอาการเสียวฟันเมื่อรับประทานอาหารร้อนหรือเย็น เมื่อฟันผุลุกลามจนทะลุถึงชั้นโพรงประสาทฟัน ทำให้เกิดอาการปวดฟัน หรือรากฟันอักเสบเป็นหนอง และหากปล่อยทิ้งไว้อาจเป็นช่องทางให้เชื้อโรคแพร่กระจายไปสู่ส่วนต่าง ๆของร่างกายได้  ทั้งนี้ควรพบทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจสุขภาพช่องปากและฟันเป็นประจำทุก 6-12 เดือน เพื่อทำการรักษาตั้งแต่ในระยะแรก ๆ ที่ยังไม่มีอาการและสามารถรักษาให้หายก่อนที่โรคจะลุกลามมากขึ้นรวมไปถึงการตรวจช่องปาก ขูดหินปูน และทำความสะอาดฟัน ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคฟันผุ ช่วยป้องกันและยับยั้งปัญหา ในช่องปากและโรคฟันอื่นๆ นอกจากนี้ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง ในตอนเช้าและก่อนนอน และใช้ไหมขัดฟันเพื่อช่วยทำความสะอาดซอกฟันที่ขนของแปรงสีฟันเข้าไปไม่ถึง

X