คณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนวุฒิสภา ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของจังหวัดขอนแก่น

25 กรกฎาคม 2563, 11:30น.


      นายศรัทธา คชพลายุกต์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น กล่าวต้อนรับคณะอนุกรรมการศึกษาเสนอแนะแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนวุฒิสภา ว่า จังหวัดขอนแก่น มีประชากรประมาณ 1.8 ล้านคน (ปี 2562) มีอัตราการเติบโตของประชากร 2.09% ต่อปี เป็นจังหวัดที่มีขนาดประชากรมาที่สุดเป็นอันดับ 4 ของประเทศ เนื่องจากตั้งอยู่ตรงกลางของภาคอีสาน ทำให้ขอนแก่นมีบริบทความเป็นเมือง เป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านการศึกษา การแพทย์ และเศรษฐกิจของภาคอีสาน จึงเป็นปัจจัยดึงดูดให้มีประชากรเพิ่มขึ้นทุกปี ตัวเลขอัตราการเติบโตของขอบแก่นถือว่าสูงมากเมื่อเทียบกับจังหวัดหัวเมืองอื่นๆ ของประเทศ การเติบโตของเมืองที่รวดเร็ว (Rapidly Growing City) ทำให้ปัญหาภายในเมืองตามมา เช่น จราจรหนาแน่น ขนส่งมวลชน มลภาวะ ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าอื่นๆ ในพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ประชาชนใช้รถใช้ถนนเดินทางสัญจรผ่านจังหวัดขอนแก่นเป็นจำนวนมากทั้งช่วงเวลาปกติและช่วงเทศกาลสำคัญๆ ประชากรเพิ่มขึ้นและประชากรแฝงเข้าอาศัยพื้นที่จำนวนมากทำให้มีความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากการขาดวินัยไม่เคารพกฎหมาย อุบัติเหตุส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตด้วยรถจักรยานยนต์สูงทั้งช่วงปกติและเทศกาล ซึ่งมีพฤติกรรมเสี่ยงเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว และไม่สวมหมวกนิรภัย ขอนแก่นมีสถิติการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเสียชีวิตย้อนหลังเฉลี่ย 10 ปี ปีละ 400 ราย คิดเป็นอัตราการเสียชีวิต 24.05 ต่อประชากร



      นายแพทย์ทวีวงศ์ จุลกะมนตรี คณะอนุกรรมการการศึกษาเสนอแนวทางป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน กล่าวว่า ทางวุฒิสภาให้ความสำคัญกับการลงพื้นที่มาก จากที่เราทราบว่า ต้องสูญเสียพี่น้องคนไทยวันละ 60 คน ปีละ 2 หมื่นกว่าคน เสียหายทางเศรษฐกิจปีละกว่า 5 แสนล้านบาท เสียชื่อเสียงประเทศเมื่อมีผู้มีชื่อเสียงด้านการปั่นจักรยานมาเสียชีวิตบนถนนไทย นายกรัฐมนตรีเน้นการให้ความสำคัญด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงประเทศ และด้านโลจิสติกส์ จึงมอบอำนาจให้วุฒิสภาได้ทำการติดตามยุทธศาสตร์การปฏิรูปประเทศร่วมกับรัฐบาล ต้องรายงานให้วุฒิสภาติดตามยุทธศาสตร์ชาติกับการปฎิรูปประเทศทุก 3 เดือน  คณะกรรมการกู้ชีพฯ จึงตั้งคณะอนุกรรมาธิการฯ ร่วมติดตาม ไปลงพื้นที่จังหวัด และจะไปหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย เป็นต้น ตั้งเป้าให้บรรลุผลปี 2565 การลงพื้นที่ต้องลงครบทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ ควรมีหน่วยงานกลางที่ต้องทำหน้าที่ รวบรวมข้อมูลแห่งชาติ วิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของสาเหตุในประเทศไทย เป็นภาพรวมที่สภาและวุฒิสภา กำลังดำเนินการอยู่ทุกวันนี้  



      นายแพทย์อดุลย์ บำรุง รองนายแพทยสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น และผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านไผ่ กล่าวถึงผลการดำเนินงานขับเคลื่อนกลไกบริหารจัดการ เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ระบุว่า จังหวัดขอนแก่นมีประชากรหนาแน่น ประกอบกับมีถนนมิตรภาพตัดผ่าน มีแหล่งท่องเที่ยว และเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยหลาย นำมาซึ่งปัญหาอุบัติเหตุทางถนน  โดยปัจจุบันค่าเฉลี่ยอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 27.7 ต่อแสนประชากร ซึ่งถือว่าค่อนข้างสูง แม้จะต่ำกว่าค่าเฉลี่ยทั่วประเทศ ที่อัตรา 31 ต่อแสนประชากร



      พื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูงในเขตตัวเมือง คือจุดที่ถนนมิตรภาพตัดผ่านเมือง 14 กม. จึงได้มีการนำเอาเทคโนโลยีกล้อง CCTV เข้ามาใช้ เพื่อตรวจจับความเร็ว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพบังคับใช้กฎหมาย ภาพรวมจึงช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้มีแนวโน้มว่ายอดเสียชีวิตจะสูงขึ้น เพราะเพียงครึ่งปีแรกมีผู้เสียชีวิตไปแล้ว 8 ราย เท่ากับยอดในปี 2562 ทั้งปี โดยพฤติกรรมเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ส่วนใหญ่เกิดจากการ “ไม่สวมหมวกกันน็อค” และ “ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” รองลงมาคือ “ใช้ความเร็ว” และ “เมาแล้วขับ” ช่วงเวลาเกิดเหตุสูงสุดคือ 16.00 - 20.00 น. ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุดคือมอเตอร์ไซค์ ที่น่าห่วงคือมากถึง 52% ไม่มี พ.ร.บ.  



      สำหรับแนวทางบริหารจัดการแก้ไขปัญหานั้น จังหวัดขอนแก่น ได้บูรณาการยุทธศาสตร์ 5 ด้าน เพื่อลดและป้องกันอุบัติเหตุ ได้แก่ 1. ด้านบริหารจัดการ โดยการตั้งคณะทำงานและประชุมต่อเนื่อง รวมถึงมีการวิเคราะห์ข้อมูลและประเมินผลการปฏิบัติงาน 2. ด้านวิศวกรรมจราจร โดยวิเคราะห์ทำแผนที่จุดเสี่ยงและแก้ไข ออกแบบถนนโครงสร้างวิศวกรรมจราจรที่มีมาตรกฐาน การนำเทคโนโลยีกล้องตรวจจับความเร็วเข้ามาใช้ 3. ด้านการบังคับใช้กฎหมาย โดยตำรวจภูธรเข้ามาเน้นควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ 4. ด้านการรักษาหลังเกิดเหตุและการเยียวยา โดยเตรียมความพร้อมสถานพยาบาล ประสานงานเครือข่ายหน่วยกู้ชีพ และ 5.ด้านมาตรการองค์กรและประชาสัมพันธ์ ให้ทุกคนตระหนักและปฏิบัติตามกฎจราจร



      พ.ต.อ.สกล สิทธิชัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ขอนแก่น นำเสนอเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย ว่า จังหวัดขอนแก่นติดตั้งกล้องกล้องซีซีทีวีเกือบทุกแยกไฟแดงในถนนสายหลัก เพื่อนำไปเป็นหลักฐานและลดการเผชิญหน้าระหว่างตำรวจและคู่กรณี รวมถึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการทำหน้าที่ ขณะเดียวกันได้ปรับพื้นที่การจราจร เช่น การปิดกั้นจุดกลับรถ เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ แต่ปัญหาสำคัญที่พบคือจะถูกต่อต้านจากชุมชนเมื่อบังคับใช้กฎหมายอย่างเต็มรูปแบบ เนื่องจากชาวบ้านมีวิถีชีวิตที่มีความคุ้นเคยรูปแบบดั้งเดิม เช่น การขี่รถจักรยานยนต์ในหมู่บ้าน ไม่สวมหมวกกันน็อก  จุดนี้คือสิ่งสำคัญที่สานต่อให้กฎหมายบังคับใช้เต็มรูปแบบประชาชนเกิดการเรียนรู้ไม่ฝ่าฝืนกฎหมาย



      ผศ.ดร.พงษ์พันธ์ แทนเกษม อ.คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่า ถนนมิตรภาพเป็นถนนเส้นหลักที่ผ่านจังหวัดขอนแก่นมีความยาว 14 กิโลเมตร มีการจราจรเกือบแสนคันต่อวัน มีห้างสรรพสินค้า มหาวิทยาลัย หมู่บ้าน แต่มีปัญหาเรื่องความไม่สัมพันธ์กัน เพราะรถที่ต้องการผ่านไปจังหวัดอื่นต้องการใช้ความเร็ว ทั้งนี้การติดตั้งกล้องตรวจจับความเร็วไม่ได้ต้องการจับผิดประชาชน แต่ต้องการให้เกิดความระมัดระวังการใช้ความเร็ว เพื่อป้องกันในการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากในปี 2558 พบว่ารถยนต์ใช้ความเร็วเกินกฎหมายกำหนด แต่เมื่อติดตั้งกล้องแล้ว ระบบจะส่งใบแจ้งเสียค่าปรับถึงบ้าน พบว่าความเร็วรถลดลงจริง ลดการฝ่าไฟแดงได้ร้อยละ 60  เพิ่มอัตราสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 60 โครงการทั้งหมดจัดทำมาตั้งแต่ปี 2561 ทำให้ลดอัตราผู้เสียชีวิตได้ร้อยละ 80 แต่โครงการนี้ต้องใช้งบประมาณลงทุนและบำรุงรักษาสูง ต้องมีแผนที่ชัดเจน เพื่อรักษาระบบให้ทำงานต่อเนื่องและยั่งยืน และมีมาตรการอื่นเสริมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการลดอุบัติเหตุ 



      นายแพทย์วีรศักดิ์ พงษ์พุทธา รองผู้อำนวยการศูนย์อุบัติเหตุและวิกฤตบำบัด รพ.ขอนแก่น กล่าวว่า ได้ปรับการเข้าถึงการช่วยเหลือประชาชนมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งเครื่องมือและรูปแบบการรักษาให้มีประสิทธิภาพ มีการควบคุมระบบความเร็วของรถฉุกเฉิน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการเข้าพื้นที่ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ ทั้งนี้หน่วยแพทย์ฉุกเฉินในจังหวัดมี 260 หน่วย แบ่งออกเป็นสามระดับ อย่างไรก็ตามการออกเหตุของทีมแพทย์ฉุกเฉินจังหวัดขอนแก่น ถือเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ โดยมีเหตุถึง 80,000-100,000 รายต่อปี  นอกจากนี้ยังมีการซ้อมแผนรับมืออุบัติเหตุต่อเนื่องในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเตรียมป้องกันหากมีเหตุจริง ทุกคนสามารถทำหน้าที่ได้อย่างรวดเร็วแม่นยำ ทั้งนี้สิ่งที่ยังขาดแคลนคือบุคลากร ที่ยังมีการเปลี่ยนตัวเข้าออกไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากความมั่นคงในหน้าที่การงาน

       ในเวทีมีการนำเสนอผลการดำเนินงานขับเคลื่อนกลไกการบริหารจัดการการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดขอนแก่น มาตรการบังคับใช้กฎหมาย  โครงการลดอุบัติเหตุบนถนนมิตรภาพ 14 กม. โครงการตรวจจับการฝ่าไฟแดงและการสวมหมวกนิรภัย การบริหารจัดการระบบ EMS จังหวัดขอนแก่น และลงติดตามการทำงานในพื้นที่จริง ณ ศูนย์สื่อสารและสั่งการการแพทย์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลขอนแก่น ศูนย์ควบคุมการตรวจจับฝ่าสัญญาณไฟแดง และถนนมิตรภาพช่วงภาพตำบลหนองกุง อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น

X