'โรคดึงผม - ชอบถอนผมตัวเอง' โรคใกล้ตัวที่คนเป็นอาจไม่รู้ตัว

22 กรกฎาคม 2563, 17:47น.


     โรคดึงผม อาจเกิดขึ้นโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว โดยส่วนมากพบว่าผู้ป่วยมักมีอาการร่วมกันทั้ง 2 แบบ ซึ่งอาจจะรู้ตัวมากกว่าไม่รู้ตัว หรือไม่รู้ตัวมากกว่ารู้ตัวแล้วแต่กรณีไป โดยการกระทำขณะที่รู้ตัวผู้ป่วยอาจจะรู้สึกไม่สบายหนังศีรษะ คัน หรือรู้สึกยุกยิกๆ รวมไปถึงรู้สึกว่าเส้นผมไม่ตรงไม่เรียบทำให้อยากดึงออก เมื่อดึงออกแล้วจะรู้สึกสบายใจขึ้น รู้สึกโล่งขึ้น ขณะที่การดึงผมโดยไม่รู้ตัว มักจะดึงระหว่างทำกิจกรรมอื่นๆอยู่ เช่น ดูโทรทัศน์ อ่านหนังสือ ทำงาน เป็นต้น เป็นการกระทำแบบเผลอที่ไม่รู้ตัวและไม่ได้ตั้งใจ


     สำหรับอาการดึงผมปัจจุบันพบผู้ป่วยในอัตรา 4% ของคนทั่วไป ปัจจัยที่ทำให้เป็นโรคดึงผม อาจมีโรคทางจิตเวชบางอย่าง เช่น วิตกกังวลประเภทย้ำคิดย้ำทำ หรือการเป็นโรคซึมเศร้า รวมถึงพันธุกรรมก็เป็นปัจจัยหนึ่ง อาจมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคดึงผมเหมือนกัน หรือแม้กระทั่งความผิดปกติทางสมองและสารเคมีในสมอง สมาธิสั้น มีความเครียด หรือมีปัญหาทางด้านปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เป็นต้น 




     วิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนอื่นต้องให้ผู้ป่วยรู้ตัวก่อนว่าเป็นโรคชอบดึงผม โดยเฉพาะในกรณีที่ดึงโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้ผู้ป่วยควบคุมพฤติกรรมของตัวเอง แต่อย่าใช้วิธีการดุว่าหรือตำหนิแรงๆ ให้ใช้วิธีเตือนให้เหมาะสม เพราะถ้าหากใช้อารมณ์ในการตำหนิ ผู้ป่วยอาจจะยิ่งดึงผมมากขึ้นก็ได้


     วิธีการรักษาให้ผู้ป่วยหรือคนรอบข้างลองสังเกตพฤติกรรมก่อนว่าเวลาดึงผม ผู้ที่เป็นมักดึงผมตัวเองเวลาไหน เวลาเหงา เศร้า เบื่อ หรือเครียด เป็นต้น หรือชอบดึงผมในสถานการณ์ใด เช่น ขณะนั่งดูโทรทัศน์ ขณะนอนอยู่ในห้อง ฯลฯ เมื่อผู้ป่วยรู้ตัวแล้วก็จะควบคุมตัวเองได้ง่ายขึ้น สำหรับวิธีการรักษานอกเหนือจากนี้ก็คือการให้ยา โดยผู้ป่วยต้องไปปรึกษาแพทย์ก่อนเมื่อเริ่มรู้ตัวว่าตนเองมีอาการเหล่านี้


ที่มา : โรงพยาบาลรามาธิบดี
X