เมื่อพูดถึง “โรคหัวใจ” คนจำนวนไม่น้อยมักจะนึกถึงผู้สูงวัยเป็นอย่างแรก ทั้งที่จริงแล้วคนอายุน้อยหรือแม้แต่นักกีฬาที่ดูแข็งแรงก็สามารถเป็นได้ด้วยเช่นกัน ที่สำคัญป่วยเป็นโรคนี้กันมากขึ้นเสียด้วย ทำเอาหลายคนเป็นกังวลและสงสัยว่าเพราะสาเหตุอะไรคนอายุน้อยถึงเป็นโรคหัวใจมากขึ้น รศ. นพ.ทศพล ลิ้มพิจารณ์กิจ สาขาวิชาโรคหัวใจ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล มีคำตอบมาบอก
สาเหตุที่ “คนอายุน้อย” เป็นโรคหัวใจมากขึ้น
จริง ๆ แล้วคนอายุน้อยล้วนมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคหัวใจมากขึ้นซึ่งเกิดจากหลายปัจจัย หลักๆ เลยก็คือสูบบุหรี่ ที่ดูดจัดดูดเยอะสะสมมาตั้งแต่เด็ก บางครั้งอายุ 30-35 ปี ก็พบว่าเป็นโรคหัวใจตีบตันต้องมาขยายหลอดเลือดกันแล้ว รวมถึงโรคต่างๆ ที่ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะเนื่องจากมีวงจรไฟฟ้าผิดปกติบริเวณกล้ามเนื้อหัวใจ เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจหนาผิดปกติ โรคไหลตาย ฯลฯ นอกจากคนอายุน้อยก็ยังหมายรวมถึงบรรดานักกีฬาอาชีพ ที่ใช้พลังเยอะซึ่งจะทำให้มีกล้ามเนื้อหัวใจหนา จึงต้องหมั่นเข้าพบแพทย์ตรวจสภาพความแข็งแรงของหัวใจ
ความหนาของหัวใจขึ้นอยู่กับอะไร?
ส่วนใหญ่แล้วความหนาของหัวใจคนเราจะอยู่ที่ประมาณ 1 – 1.5 มิลลิเมตร ซึ่งความหนาของหัวใจจะมีมากขึ้นอยู่กับความดันโลหิตสูงนานๆ โดยที่กล้ามเนื้อหัวใจจะบีบตัวไล่เลือดไปยังหลอดเลือดแข็งๆ จึงเกิดความหนาตัว รวมทั้งบรรดานักกีฬาอีกเช่นกันที่ต้องใช้แรงเยอะ อย่าง ยกน้ำหนัก วิ่งมาราธอน ฯลฯ ที่ใช้กำลังมากจนหัวใจทำงานหนักเกินไปทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนา
อย่างไรก็ตาม เราสามารถเช็คสัญญาณที่บ่งบอกว่ากำลังเป็นโรคหัวใจเองได้ นั่นคือ เหนื่อย แน่นหน้าอก ใจสั่น เต้นเร็วหรือช้าผิดปกติ หน้ามืดเป็นลม ซึ่งหากใครเข้าข่ายสัญญาณของโรคหัวใจต่าง ๆ เหล่านี้ อย่านิ่งนอนใจรีบเข้ารับการตรวจจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านทันที เพื่อให้ทราบความแข็งแรงของหัวใจตัวเอง สามารถดูแลร่างกายได้อย่างเหมาะสมถูกต้อง
ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel