“หอบหืด” ถือเป็นโรคทางเดินหายใจที่มีความรุนแรงพอสมควร สามารถเป็นได้ทุกเพศทุกวัยซึ่งหากมองผิวเผินอาจคิดว่าเป็นแค่หวัดธรรมดา ผู้ปกครองบางคนจึงอาจมีความกังวลและสงสัยขึ้นมาได้ว่าลูกของเราจะมีอาการแบบไหนถึงเข้าข่ายป่วยด้วยโรคหอบหืด ด้วยความห่วงใยจาก อ. นพ.จรินทร์ แววพานิช สาขาวิชาเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ออกมาอธิบายเกี่ยวกับสาเหตุที่แน่ชัด รวมถึงวิธีสังเกตอาการหอบหืดของลูกที่ไม่ควรมองข้าม
สาเหตุที่แน่ชัดของโรคหอบหืด
จริงๆ แล้วสาเหตุที่แน่ชัดเลยของโรคหอบหืดยังไม่มี ซึ่งโดยทั่วไปสาเหตุของโรคจะเกิดขึ้นได้จากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ด้านพันธุกรรม หากคนในครอบครัว พ่อ แม่ป่วยด้วยโรคหอบหืด โอกาสที่ลูกจะป่วยด้วยโรคนี้ก็มีสูง รวมถึงพันธุกรรมด้านอื่นๆ โดยที่แพทย์จะต้องมีการเจาะเลือดดูความผิดปกติของยีนส์บางชนิดซึ่งอาจสัมพันธ์ต่อการเกิดโรคหอบหืดได้
2. อาการแพ้บางชนิด เช่น ผื่นแพ้ผิวหนัง ก็มีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นโรคหอบหืดได้เช่นกัน
3. การติดเชื้อบางชนิด เช่น เชื้อไวรัส RSV หากติดตอนเด็กๆ พอโตขึ้นก็เสี่ยงเป็นโรคหอบหืดได้
วิธีสังเกตอาการเมื่อลูกเป็นหอบหืด
1. มีอาการหอบเหนื่อย หายใจเร็ว หายใจมีเสียงหวีด
2. มีอาการไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มอิ่มไม่สะดวก
3. เป็นหวัดแล้วหอบ หายใจมีเสียงหวีดต้องพ่นยาทุกครั้ง
ซึ่งหากสังเกตแล้วพบอาการเหล่านี้ควรรีบพาลูกไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าป่วยเป็นหอบหืดแอบซ่อนหรือไม่ เพราะหากปล่อยไว้จนมีอาการรุนแรงอาจทำให้เสียชีวิตได้
แล้วช่วงเวลาจะเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงของโรคได้ไหม?
ช่วงเวลาสามารถเป็นตัวชี้วัดความรุนแรงได้ โดยโรคหอบหืดพบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงเสมอ เช่น ช่วงเวลากลางคืนมักจะเป็นหนักกว่าช่วงเวลากลางวัน เนื่องจากอากาศในช่วงเวลากลางคืนจะเย็นลงซึ่งอากาศเย็นจะมีความชื้นน้อยทำให้ไปกระตุ้นหลอดลมจนหดเกร็งได้ไวมากกว่า เมื่อเราหายใจรับอากาศที่เย็นและแห้งเอาสู่ร่างกายทางเดินหายใจจะเสียความชุ่มชื้นก่อให้เกิดการอักเสบมีอาการหอบกำเริบขึ้นมาได้ ยิ่งบางคนนอนในห้องแอร์อาการของโรคก็จะกำเริบได้ง่ายมากขึ้น
เมื่อรู้อย่างนี้แล้วก็หวังว่าพ่อแม่ผู้ปกครองจะเข้าใจและหมั่นสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด ที่สำคัญเมื่อพบว่าลูกหลานมีอาการคล้ายโรคหอบหืดอย่านิ่งเฉยควรรีบไปพบแพทย์เพื่อดำเนินการรักษาอาการต่อไป
ข้อมูล : รามาแชนแนล Rama Channel