เป็นเรื่องยากที่เด็กเล็กจะอธิบายได้ว่าปวดหัวไมเกรน พ่อ-แม่ ต้องหมั่นสังเกตอาการ

25 มิถุนายน 2563, 15:50น.


            “อาการไมเกรน” อาเจียน ปวดจี๊ดในหัวใครว่ามีแต่ผู้ใหญ่เท่านั้น เด็กๆ ก็มีโอกาสเป็นได้หากอยู่ในปัจจัยกระตุ้นต่างๆ เป็นเวลานาน ซึ่งพอเป็นแล้วรบกวนต่อการใช้ชีวิตไม่น้อย แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูก หลานของเรากำลังป่วยด้วยอาการไมเกรน? เพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ผศ. นพ.ชัยยศ คงคติธรรม สาขาวิชาประสาทวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้ออกมาอธิบาย รวมถึงแนะนำ 6 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบอกลาอาการไมเกรนในเด็ก

ทำความเข้าใจกับอาการไมเกรนในเด็ก


            ปัจจัยกระตุ้นให้เกิดอาการไมเกรนในเด็ก ได้แก่ อดนอน จ้องโทรศัพท์ ดูทีวี เตรียมสอบ หรือเล่นเกมส์เป็นเวลานาน ไม่ออกกำลังกาย ไม่ชอบดื่มน้ำเปล่าแต่กลับชอบดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน อย่าง โค้ก เปปซี่ ชาเขียว ชานมไข่มุก รวมไปถึงอุณหภูมิที่ร้อนเกินไป ซึ่งจริงๆ แล้วไมเกรนในเด็กส่วนใหญ่มีตั้งแต่อายุ 3 – 5 ขวบ ไปจนถึงระดับประถมปลาย และไม่ได้เกิดจากความเครียด แต่จะเป็นเอง (ไม่ได้เจอบ่อย) อาการที่พบอาจจะไม่ได้ปวดหัวอย่างเดียว อยู่ดีๆ ก็อาเจียนออกมาได้โดยไม่ทราบสาเหตุ ไม่มีอากการท้องเสีย หรือไข้ร่วมด้วย

วิธีการรักษาอาการไมเกรนในเด็ก

            แพทย์ซักประวัติเด็กตามเกณฑ์ของโรค และจ่ายยา ซึ่งในเด็กบางคนเป็นมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่า 4 ครั้งต่อเดือน หรือบางคนเป็นจนไม่สามารถไปโรงเรียนได้ก็ต้องให้กินยาทุกวัน หรือพูดง่ายๆ ว่าป้องกันไว้ เพื่อลดความถี่ของอาการป่วย แม้จะไม่ปวดหัวก็ต้องกิน ซึ่งช่วงระยะเวลาการกินยาจะประมาณ 4-6 เดือน ขึ้นอยู่กับอาการป่วย หากดีขึ้นสามารถหยุดกินยาได้แล้วไปปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแทน

6 วิธีปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบอกลาอาการไมเกรนในเด็ก

            1. ให้เด็กดื่มน้ำในปริมาณที่มากขึ้น (6-8 แก้วต่อวัน) ซึ่งจะช่วยลดการเกิดไมเกรนได้ร้อยละ 30 – 40

            2. ลดชั่วโมงการเรียนพิเศษลง

            3. ให้ทำกิจกรรมช่วยผ่อนคลาย อย่าง เล่นกีฬาที่ชอบ เช่น เทควันโด วอลเลย์บอล วิ่ง ฯลฯ เล่นดนตรี เช่น เปียโน กีต้าร์ กลองชุด ฯลฯ

            4. นอนพักผ่อนให้ได้อย่างน้อย 7 – 8 ชั่วโมง

            5. กินอาหารเช้าในทุกๆ วัน

            6. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

            สิ่งหนึ่งที่ผู้ปกครองควรทำคือหมั่นสังเกตลูกหลานของเราว่ามีความผิดปกติ หรือเข้าข่ายอาการไมเกรนมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะกับเด็กเล็กๆ ไร้เดียงสา ไม่สามารถสื่อสารชัดเจนได้ เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที



 



ข้อมูล : RAMA CHANNEL



 

X