"ยกเลิกเคอร์ฟิว" อย่าลืมด่านตรวจเมา! ศวปถ. เสนอตั้งด่านร่วม 'ตรวจเมา-ตรวจโรค'

13 มิถุนายน 2563, 15:17น.


             นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงโควิด-19 เดือน มี.ค - เม.ย.63 ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ตั้งแต่เดือน พ.ค.63 ที่รัฐบาลประกาศผ่อนปรนระยะที่ 2 ให้จำหน่ายสุรากลับไปบริโภคที่บ้านได้ และการเดินทางของประชาชนกลับมาใกล้เคียงปกติ กระทรวงคมนาคมเผยตัวเลขการเสียชีวิตทางท้องถนน เดือน พ.ค. เฉลี่ยวันละ 40 คน กลับมาใกล้เคียงกับเดือน พ.ค.62 ที่เฉลี่ยวันละ 42 คน



             ปัจจุบันรัฐบาลกำลังเข้าสู่การผ่อนคลายระยะที่ 4 ซึ่งอนุญาตให้บริโภคสุราที่ร้าน และยกเลิกเคอร์ฟิวไป แต่ขณะเดียวกัน “ด่านตรวจเมา” กลับลดจำนวนลง เนื่องจากตำรวจต้องไปปฏิบัติภารกิจอื่น และสังคมมีข้อกังวลเรื่องการติดเชื้อขณะเป่าตรวจ แม้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ทำหนังสือหารือกรมควบคุมโรค และมีหนังสือตอบกลับเมื่อวันที่ 31 มี.ค.63 แต่ก็ยังไม่พบการนำมาปรับใช้กับด่านตรวจเมาอย่างเป็นระบบ

            ศวปถ. จึงเสนอนโยบาย ด้านความปลอดภัยทางถนน ประกอบการพิจารณากรณีประกาศวันหยุดยาว หรือหยุดชดเชยช่วงสงกรานต์ และมีการผ่อนปรนระยะที่ 4 ดังนี้

1) ควรพิจารณาประกาศ “ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” ในช่วงหยุดยาว

2) ตั้งด่านตรวจเมา ให้มีประสิทธิภาพ

2.1 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ร่วมกับ กรมควบคุมโรค บูรณาการการตั้งด่านตรวจวัดแอลกอฮอล์และด่านโควิค-19 พร้อมกัน และให้มีการตรวจรูปแบบสุ่ม (Random Breath Testing: RBT) ซึ่งเป็นมาตรการในทางสากลฯ สำหรับการจัดการปัญหาเมาขับบนถนน

2.2 วัดระดับแอลกอฮอล์ในกรณีอุบัติเหตุที่มีผู้บาดเจ็บสาหัสหรือเสียชีวิต “ทุกราย” โดยรัฐบาลเป็นผู้จัดหางบประมาณค่าตรวจให้ต่อเนื่องและเป็นระบบ (ปัจจุบันใช้งบกองทุนเพื่อความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน)

3) ช่วงหยุดยาว ต้องมีมาตรการจัดการความปลอดภัยทางถนนเช่นเดียวกับ "7 วันอันตราย" กำหนดเป้าหมายลดตาย และมีมาตรการจัดการความเสี่ยง




ข้อมูลทางวิชาการที่น่าสนใจ มีดังนี้

          บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ เผยตัวเลขผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในช่วงโควิด เดือน มี.ค - เม.ย.63 ลดลงอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับปีก่อน

          กระทรวงสาธารณสุข เผยข้อมูลผู้เสียชีวิตจากการดื่ม/เมาขับ เดือน มี.ค. - เม.ย.63 เทียบกับปี62 ลดลง 8,953 คน (57%)

          กลุ่มอายุที่ลดลงมากที่สุดคือ วัยรุ่น 15-19 ปี และกลุ่มวัยทำงาน 20-29 ปี สะท้อนมาตรการ ล็อกดาวน์ ปิดสถานบันเทิง-ผับบาร์ ห้ามดื่มที่ร้าน และเคอร์ฟิว ได้ผลกับกลุ่มนี้

          แต่กลุ่มวัยอื่นๆ โดยเฉพาะสูงวัยกลับลดลงไม่มาก เพราะมีพฤติกรรมดื่มลักษณะเดิม คือดื่มในบ้าน บางส่วนมีเพื่อนฝูง ต้องขับขี่กลับบ้าน และประสบเหตุ ทำให้ตัวเลขเจ็บตายไม่ลดลง




X