“ตอนเด็กกินก็ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเพิ่งมาแพ้ตอนนี้ได้ล่ะเนี่ย??” เชื่อว่าคงมีคนจำนวนไม่น้อยที่เมื่อครั้งยังเป็นเด็กกินอาหารเมนูนั้นเมนูนี้ได้สบาย ไม่มีอาการแพ้อย่างใด แต่พอโตขึ้นมาเป็นผู้ใหญ่กลับแพ้เสียได้ จึงอาจสงสัยว่าเป็นเพราะเหตุใด ทำไมกินเมนูนี้มาตั้งนานถึงเพิ่งมีอาการแพ้อาหาร? อ.พญ.พิณทิพย์ งามจรรยาภรณ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ จึงได้ออกมาอธิบายถึงสาเหตุของการกินอาหารมาครึ่งชีวิตแล้วกลับมีอาการแพ้ได้ ว่าแล้วก็ไปติดตามกันเลยดีกว่า
สาเหตุของการแพ้อาหารตอนโต
อาการแพ้อาหารส่วนใหญ่แบ่งออกเป็น “แพ้อาหารในเด็ก”และ “แพ้อาหารในผู้ใหญ่” ซึ่งการดำเนินโรคจะไม่เหมือนกัน คือ แพ้อาหารในเด็กมักจะมีอาการตั้งแต่เด็กเล็กๆ แต่สำหรับแพ้อาหารในผู้ใหญ่ (ที่กินมาทั้งชีวิตเพิ่งจะมาแพ้) เกิดขึ้นได้เป็นเพราะร่างกายได้รับสารอาหารกระตุ้นเข้าไปสักระยะ แล้วร่างกายเราไปสร้างแอนติบอดี้ต่อต้านสารอาหารนั้น พูดง่ายๆ ว่ามักจะไม่เกิดตอนที่กินครั้งแรกแต่จะเริ่มมีอาการได้เมื่อกินไปสักระยะนั่นเอง
โดยอาหารที่คนนิยมแพ้มากที่สุดจะแบ่งตามช่วงอายุ อย่าง เด็กก็จะแพ้นม ไข่ ถั่ว แป้งสาลี ส่วนผู้ใหญ่อาหารที่แพ้มากที่สุด คือ อาหารทะเล
ความรุนแรงของการแพ้อาหาร
ความรุนแรงหลักๆ จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
1. รุนแรงมากถึงขั้นเป็นอันตรายต่อชีวิต : มีผื่นขึ้นตามตัว ตาบวม ปากบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก หายใจมีเสียงหวืด ความดันตก ซึ่งหากรักษาช้าหรือไม่ทันอาจมีโอกาสเสียชีวิตได้
2. แพ้แบบไม่รุนแรง : ผื่นขึ้น ตาบวม คันปากนิดๆ หน่อยๆ ไม่ได้รุนแรงมาก
วิธีการป้องกันและรักษาอาการแพ้อาหาร?
ส่วนใหญ่จะเน้นไปที่การรักษามากกว่า ถ้าเกิดมีอาการแล้วเราจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดอาการแพ้ซ้ำ วิธีเดียวที่ดีที่สุดก็คือเลี่ยงอาหารที่แพ้ไปเลย แต่ก็อาจจะมีอาหารที่เลี่ยงได้ยาก เช่น แป้งสาลี เนื่องจากอาหารหลายๆ ประเภทมีสิ่งนี้ประกอบอยู่ อย่าง เส้นก๋วยเตี๋ยว สปาเกตตี้ หรือแม้กระทั้งซีอิ๊ว/ซอสปรุงรสต่างๆ ดังนั้น จึงควรเลี่ยง หันมากินข้าวแทน แต่หากต้องรักษาในส่วนของการแพ้แป้งสาลีก็จะมีเป็นยาอะดรีนาลีน หรือ Epipen ซึ่งเป็นแบบฉีดให้พกติดตัวไว้ หากมีอาการก็ฉีดยาเองแล้วรีบไปพบแพทย์
กินยาแก้แพ้ก่อนกินอาหาร ช่วยป้องกันได้จริงหรือไม่
จริงๆ แล้วการรักษาที่ดีที่สุดอย่างที่บอกคือควรเลี่ยง ซึ่งในกรณีที่กินยาแก้แพ้แล้วไปกินอาหารทะเลได้จะเป็นเพราะว่าอาการแพ้ของบุคคลนั้นไม่รุนแรง แต่หากเป็นการแนะนำทางการแพทย์ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เพราะยาแก้แพ้ไม่ใช่ยาที่จะช่วยป้องกันรุนแรง ซ้ำร้ายการกินยาแก้แพ้อาจจะไปบดบังอาการทำให้แพ้รุนแรงมากกว่าปกติ แทนที่จะแสดงอาการออกมาให้รีบไปพบแพทย์
เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็หวังว่าทุกๆ คนที่เพิ่งจะมาแพ้อาหารตอนโตจะเข้าใจ และพยายามหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ให้มากที่สุด ที่สำคัญไม่ควรกินยาแก้แพ้ก่อนกินอาหารเลย เพราะนั่นอาจเป็นการทำร้ายชีวิตอย่างไม่รู้ตัว
ข้อมูล : RAMA CHANNEL