การก่อตัวของพายุจนทำให้เกิดฝนฟ้าคะนองเป็นสาเหตุหลักทำให้เกิดฟ้าผ่าเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยจากกรมอนามัย จึงได้ออกมาแนะนำวิธีป้องกันตนเองขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง รวมถึงการปฏิบัติเบื้องต้นหากพบเห็นผู้ถูกฟ้าผ่า เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
วิธีป้องกันตนเองจากเหตุการณ์ฟ้าผ่า
แน่นอนว่าการก่อตัวของพายุมักทำให้เกิดฝนฟ้าคะนอง ซึ่งฝนฟ้าคะนองถือเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดฟ้าผ่าลงมาเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยวิธีป้องกันตัวเองขณะเกิดฝนฟ้าคะนอง ได้แก่
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในที่โล่ง เช่น ทุ่งนา สนามฟุตบอล สนามกอล์ฟ ฯลฯ
- หากเลี่ยงไม่ได้ต้องไม่อยู่ใกล้ที่สูง เช่น ต้นไม้สูง เสาโทรศัพท์ เสาไฟฟ้า ฯลฯ
- ถอดวัตถุหรือเครื่องประดับที่เป็นโลหะออกจากร่างกาย
- ถ้าหากหลบอยู่ในรถยนต์ ให้จอดรถห่างจากต้นไม้ใหญ่ ตึกสูง เสาไฟฟ้าหรือป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ดับเครื่องยนต์ ปิดกระจก และอย่าสัมผัสกับส่วนใดส่วนหนึ่งของรถที่เป็นโครงโลหะ
- เมื่ออยู่ในอาคาร ควรปิดประตูหน้าต่างทุกบาน และอยู่ห่างจากผนังอาคาร ประตู หน้าต่าง พร้อมทั้งถอดปลั๊กอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าออกให้หมด
หากพบเห็นผู้ถูกฟ้าผ่าควรทำอย่างไรดี?
หลังจากที่เกิดฟ้าผ่าอย่างรุนแรงแล้วให้เรารีบสังเกตบริเวณดังกล่าวทันที หากพบเห็นผู้ถูกฟ้าผ่าให้ปฏิบัติตามคำแนะนำ ดังนี้
1. เคลื่อนย้ายผู้ถูกฟ้าผ่าไปยังตำแหน่งที่ปลอดภัย โดยสามารถแตะต้องตัวผู้ถูกฟ้าผ่าได้ทันทีเนื่องจากคนที่ถูกฟ้าผ่าจะไม่มีกระแสไฟฟ้าหลงเหลืออยู่ในตัว ต่างจากผู้ที่ถูกไฟฟ้าดูดหรือไฟฟ้าช็อต
2. รีบโทรแจ้งเหตุสายด่วนช่วยชีวิต 1669 พร้อมให้ข้อมูลสถานที่เกิดเหตุและอาการของผู้ป่วย จากนั้นปฏิบัติตามคำแนะนำเบื้องต้นจากศูนย์รับแจ้งเหตุในการดูแลผู้ป่วยระหว่างรอรถฉุกเฉิน
ทั้งนี้ กรณีที่ผู้ถูกฟ้าผ่าหมดสติ หัวใจหยุดเต้นไปชั่วขณะ ให้รีบปฐมพยาบาลโดยใช้การช่วยฟื้นด้วยการซีพีอาร์ (CPR) ทันที และนำผู้ได้รับบาดเจ็บส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
ข้อมูล : กรมอนามัย