ภาวะเครียด “วิตกกังวล-เศร้า-หงุดหงิด” จากการรับข่าวสาร COVID-19 จัดการได้ง่ายๆ 3 วิธี

16 มีนาคม 2563, 15:47น.


            การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ยังคงเป็นสถานการณ์ที่น่ากังวล ซึ่งมีข่าวสารเกี่ยวกับเชื้อในแง่ต่างๆ ออกมามากมาย จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อจิตใจใครหลายคน ก่อให้เกิดความเครียดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัวได้ ด้วยความห่วงใยจาก พญ.จุฑาวดี  หล่อตระกูล ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล จึงได้ออกมาอธิบาย รวมถึงแนะนำวิธีรับมือจากภาวะเครียด COVID-19 เพื่อสร้างความเข้าใจอย่างถูกต้อง

            รับมือจากภาวะเครียด COVID-19


            โรคเครียด คือ ภาวะหนึ่งที่เกิดขึ้นหลังจากที่ได้รับปัจจัยที่ทำให้เกิดการกดดัน และส่งผลกระทบต่อจิตใจจนเสียศูนย์ ไม่สามารถปรับตัวได้อย่างเหมาะสม ส่งผลให้เกิดความบกพร่องทางด้านการงานและชีวิตประจำวัน อาการมีได้หลายแบบ เช่น วิตกกังวล เศร้า หงุดหงิด หรืออาจจะมีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ บางคนมักมีอาการเป็นสัปดาห์หรือบางคนก็เป็นเดือนได้ ซึ่งหากปัจจัยที่กดดันทำให้เกิดความเครียดหมดไปอาการก็จะหมดไปด้วย

            สาเหตุที่ทำให้เกิดความเครียด

            ปัจจัยที่ทำให้เกิดความเครียดอาจเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันได้ อย่าง ข่าวสารของเชื้อ COVID-19 ที่กำลังเป็นที่ถูกพูดถึงในช่วงนี้ ซึ่งปกติแล้วเมื่อเกิดปัจจัยที่ทำให้เกิดความกดดัน คนเราก็จะเครียดได้เป็นธรรมดา โดยความเครียดจริงๆ แล้วก็เป็นเรื่องดี เพราะเปรียบเสมือนสัญญาณเตือนภัยที่ทำให้คนเราเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น แต่กลับกันหากสัญญาณเตือนภัยนี้ทำงานมากเกินไปอาจกลายเป็นโรคเครียดสะสมได้

            วิธีจัดการภาวะเครียด COVID-19

            1. ให้ดูก่อนว่าปัญหาของความเครียดที่เป็นนี้เกิดจากอะไร



            2. ค่อยๆ แก้ไขปัญหาไปทีละส่วน หากปัญหาเกิดจากสาเหตุที่สามารถแก้ไขได้ ก็ให้แก้ไขปัญหานั้นไปให้เต็มที่ แต่หลังจากพิจารณาแล้วพบว่าปัญหาไม่สามารถแก้ไขได้ให้ฝึกยอมรับปัญหา เช่น ข่าวของเชื้อ COVID-19 หากการรับข่าวสารทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจมากเกินไป ให้งดรับข่าวสารก่อนเลย เพื่อพักจิตใจ



            3. หากการจัดการกับปัญหาเหล่านี้มากเกินไปแล้วทำให้เกิดความเครียดสะสม ควรปรึกษาคนใกล้ชิดเพื่อเล่า ระบายความรู้สึกให้ฟัง เพราะหลังจากที่ได้ระบายเรื่องเหล่านี้ให้คนใกล้ชิดฟังก็ช่วยให้จิตใจลดเรื่องความเครียดลงได้เยอะ ส่วนคนใกล้ชิดที่รับฟังผู้ที่มีความเครียดก็ให้รับฟังอย่างเข้าใจ พยายามทำให้ผู้เครียดเห็นถึงศักยภาพของตนเองมากที่สุดว่าจะสามารถฝ่าฟันความเครียดนี้ไปได้ จากนั้นก็ให้คำแนะนำที่เหมาะสม

            การรักษาที่เหมาะสม


            หากมีความเครียดมากเกินไปจนรับมือไม่ไหวควรเข้ารับการรักษากับจิตแพทย์ ปรึกษาปัญหา ความเครียดต่างๆ ที่มี ซึ่งทางทีมแพทย์จะประเมินความรุนแรงของความเครียดที่เกิดขึ้น ภาวะร่วมทางจิตเวชที่อาจเป็นได้ พิจารณาเรื่องการให้ยาช่วยเหลือ รวมถึงรับฟังและให้คำแนะนำที่เหมาะสมกับตัวเอง



            สำหรับผู้ที่มีปัญหาทางจิตเวชอยากให้มองว่าการพบแพทย์เป็นการหาผู้รับฟัง ผู้ให้คำแนะนำที่ดี และเป็นทางออกของความเครียดทางหนึ่ง โดยที่ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ป่วยด้านจิตเวชมาก่อน



 

X