ทำความเข้าใจ “ขอบเขตความรับผิดชอบ – สิทธิ – การพ้นความรับผิด” ก่อนตัดสินใจเป็นผู้ค้ำประกัน

20 กุมภาพันธ์ 2563, 15:47น.


            ไม่ว่าใครจะทำธุรกรรมที่เกี่ยวกับการเงินใดๆ ยิ่งเป็นจำนวนเยอะๆ แน่นอนว่าต้องมี “ผู้ค้ำประกัน” เพื่อเพิ่มความมั่นใจในตัวผู้กู้กรณีที่ผู้กู้ไม่จ่ายหนี้ สถาบันการเงินก็ยังมีผู้ค้ำประกันคอยรับผิดชอบอยู่ ซึ่งบางครั้งตัวผู้ค้ำประกันเองก็มาตกลงทำสัญญาทั้งที่ไม่รู้เรื่องอะไร คิดว่ารู้จักกับผู้กู้ก็มาค้ำให้ แต่ในความเป็นจริงแล้วผู้ค้ำประกันถือเป็นบุคคลที่มีความเสี่ยงไม่น้อย กองปราบปรามจึงมีข้อมูลดีๆ เกี่ยวกับผู้ค้ำประกันที่ควรรู้มาบอกต่อ เพื่อสร้างความเข้าใจให้ทุกๆ คนก่อนตัดสินใจเป็นผู้ค้ำประกัน

            รู้ไว้สักนิด ก่อนคิดเป็นผู้ค้ำประกัน


            “ผู้ค้ำประกัน” คือ การที่ใครคนหนึ่งได้ทำสัญญากับเจ้าหนี้ว่าถ้าลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ผู้ค้ำประกันจะทำการชำระหนี้นั้นแทน ดังนั้น เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เจ้าหนี้จึงมีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้ผู้ค้ำประกันรับผิดแทนได้



            โดยขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันนั้น คือ “ผู้ค้ำประกัน” จะไม่จำกัดหรือจำกัดความรับผิดชอบของตนไว้ในสัญญาค้ำประกันด้วยก็ได้ แต่ถ้าไม่ต้องการรับผิดอะไร หรือต้องการจำกัดขอบเขตความรับผิดไว้เพียงใดจะต้องระบุในสัญญาให้ชัดเจน เช่น



            - ลูกหนี้กู้เงินเจ้าหนี้ 100,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ผู้ค้ำประกันจะจำกัดความรับผิดเฉพาะกรณีที่บุคคลนั้นทำความเสียหายเนื่องจากทุจริตต่อหน้าที่ (ไม่รวมถึงประมาทเลินเล่อด้วยก็ได้)



            เมื่อจำกัดความรับผิดไว้แล้วต้องรับผิดเท่าที่จำกัดไว้ แต่ถ้าไม่จำกัดความรับผิดแล้วลูกหนี้ผิดสัญญาต่อเจ้าหนี้ คือ ไม่ชำระเงินหรือค่าเสียหายมากน้อยเพียงใด ผู้ค้ำประกันจะต้องรับผิดทุกอย่าง และเมื่อทำสัญญาประกันแล้วจะถือว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตามสัญญานั้นๆ เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องหรือฟ้องให้รับผิดได้ในกรณีที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามกำหนด

           สิทธิของผู้ค้ำประกัน


           1. เมื่อผู้ค้ำประกันถูกเรียกร้องให้ชำระหนี้แทนลูกหนี้



           - ผู้ค้ำประกันไม่ใช่ว่าต้องชำระหนี้ทันที แต่มีสิทธิที่จะให้เจ้าหนี้ไปเรียกร้องเอาจากลูกหนี้ก่อนได้



           - ภายใต้ข้อยกเว้นบางข้อและถ้าเจ้าหนี้ฟ้องเป็นจำเลยร่วมกับลูกหนี้ ผู้ค้ำประกันยังมีสิทธิพิสูจน์ต่อศาลว่าลูกหนี้มีทรัพย์สินชำระหนี้ได้ และการที่จะบังคับจากลูกหนี้นั้นไม่ยากถ้าผู้ค้ำประกันมีพยานเข้าสืบและฟังได้เช่นนั้น ศาลก็จะบังคับเอาจากทรัพย์สินของลูกหนี้ก่อน เพราะหนี้ที่ผู้ค้ำประกันต้องชำระไม่ใช่หนี้ของผู้ค้ำประกันเอง ผู้ค้ำประกันเป็นลูกหนี้ชั้นที่สอง



           2. เมื่อผู้ค้ำประกันชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้แล้ว ไม่ว่าชำระโดยดี หรือถูกบังคับตามคำพิพากษา



           - ผู้ค้ำประกันมีสิทธิรับช่วงของเจ้าหนี้ที่จะเรียกเอาเงินชำระคืนจากลูกหนี้ได้ตามจำนวนที่ชำระไปตลอดจนค่าเสียหายต่างๆ ทั้งหมดเนื่องจากการค้ำประกัน

             การพ้นความรับผิดของผู้ค้ำประกัน


             เมื่อเซ็นชื่อในสัญญาแล้วผู้ค้ำประกันจะมีภาระต้องรับผิดต่อเจ้าหน้าที่จนกว่าหนี้ของลูกหนี้จะหมด หากหนี้ของลูกหนี้ยังมีอยู่ผู้ค้ำประกันจะยังไม่พ้นความรับผิด แต่มีการกระทำบางอย่างที่กฎหมายกำหนดไว้ให้ผู้ค้ำประกันพ้นความรับผิดได้ คือ



           - เจ้าหนี้ผ่อนเวลาให้ลูกหนี้ : ถ้ากำหนดวันชำระหนี้ไว้แน่นอน แล้วเจ้าหนี้ยืดเวลาต่อไปอีก ผู้ค้ำประกันก็พ้นความรับผิด



            - เมื่อหนี้ของลูกหนี้ถึงกำหนดชำระแล้ว : ผู้ค้ำประกันเอาเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้แล้ว แต่เจ้าหนี้ไม่ยอมรับไว้โดยไม่มีเหตุผล ผู้ค้ำประกันก็หลุดพ้นจากความรับผิดเช่นเดียวกัน



            สำหรับการค้ำประกันไม่ว่าจะค้ำให้ใครก็ตาม สำคัญที่สุดควรคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองด้วย ศึกษาข้อมูลรายละเอียดทั้งของตัวลูกหนี้เอง และขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ค้ำประกันให้ดีก่อนตัดสินใจ เพื่อไม่ให้เดือดร้อนเสียเอง



 



ข้อมูล : กองปราบปราม





 

X