วัณโรคกระดูกที่นิ้วมือรักษาหายขาดได้ หากพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก

18 กุมภาพันธ์ 2563, 15:03น.


            “วัณโรคกระดูก” แม้ชื่อจะฟังดูไม่คุ้นชิน แต่คุณรู้หรือไม่ว่ากลับพบได้บ่อยในคนไทยและสามารถถ่ายทอดไปยังคนอื่นๆ ได้ เพียงแค่สูดเอาละอองเสมหะของผู้ป่วยวัณโรคที่ไอ จาม หรือหายใจรดกัน ซึ่งหนึ่งในบริเวณที่มีการเกิดโรคก็คือนิ้วมือ ด้วยความห่วงใยจากกรมการแพทย์จึงได้ออกมาชี้แจงเกี่ยวกับวัณโรคกระดูกที่นิ้วมือ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทุกๆ คน เพราะหากพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ระยะแรก จะสามารถหายขาดได้โดยไม่ต้องได้รับการผ่าตัด

            ทำความเข้าใจ “วัณโรคกระดูกที่นิ้วมือ”


            นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์และโฆษกกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า วัณโรคกระดูกเป็นภาวะที่พบได้ประมาณร้อยละ 1 ของการเกิดวัณโรคทั้งหมด ในจำนวนนี้มีการเกิดที่บริเวณมือหรือนิ้วมือประมาณร้อยละ 4 โดยมักจะพบที่บริเวณเส้นเอ็นและเยื่อหุ้มเส้นเอ็นมากกว่าที่กระดูก ถ้าเป็นที่บริเวณกระดูกในมือมักพบเรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ กระดูกฝ่ามือ กระดูกนิ้วส่วนต้น กระดูกนิ้วส่วนกลาง และกระดูกนิ้วส่วนปลาย

            อาการที่พบ



            สำหรับอาการของวัณโรคกระดูกที่นิ้วมือผู้ป่วยมักมีอาการไม่ชัดเจน โดยจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคในระดับต่างๆ โดยอาการที่พบได้บ่อย คือ



            อาการบวมและรู้สึกตึงบริเวณกระดูกมือบริเวณที่เป็นโรค



            - อาการกระดูกหักเนื่องจากโรคไปทำลายความแข็งแรงของกระดูก (ในผู้ป่วยบางคน)



           ผู้ป่วยที่เป็นโดยมีรอยโรคหลายตำแหน่งเมื่อเกิดในร่างกายไปได้ระยะหนึ่งอาจพบหนองไหลออกมาให้เห็นที่ผิวหนัง ร่วมกับอาการอื่นๆ เช่น เป็นไข้ เบื่ออาหาร น้ำหนักลด (กรณีที่เป็นโรคตำแหน่งเดียวไม่พบ)

         
  การตรวจวินิจฉัยและการรักษา

            นายแพทย์ศักรินทร์ วงศ์เลิศศิริ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเลิดสิน กรมการแพทย์ กล่าวว่า การตรวจเพื่อวินิจฉัยวัณโรคที่นิ้วมือถือว่าสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้ 2 วิธี คือ นำชิ้นเนื้อที่บริเวณรอยโรคมาตรวจ และนำชิ้นเนื้อที่มีเชื้อโรคมาเพาะเชื้อ ซึ่งจะสามารถช่วยในการเลือกยาต้านวัณโรคที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยได้ด้วย (ในกรณีที่สงสัยเชื้อดื้อยาหรือไม่ตอบสนองต่อยาต้านวัณโรคที่ได้รับ)



            ส่วนการรักษาหลักของวัณโรคที่กระดูกมือ คือ การให้ยาต้านวัณโรค ซึ่งหากพบและได้รับการรักษาตั้งแต่ในระยะแรกของโรค จะสามารถหายขาดได้โดยไม่ต้องได้รับการผ่าตัด โดยผู้ป่วยจะต้องได้รับยาประมาณ 6-9 เดือน ยาหลักที่ให้เป็นยาขนานแรกประกอบด้วย ไอโซไนอาซิด, ไรแฟมพิซิน, ไพราซินาไมด์ และอีแทมบูทอล ซึ่งยาเหล่านี้มีผลข้างเคียงหลายอย่างที่ต้องระวัง เช่น ตับอักเสบ เส้นประสาทส่วนปลายอักเสบ และเส้นประสาทตาอักเสบ เป็นต้น ดังนั้น การใช้ยาเหล่านี้จึงจำเป็นต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิด



 



ข้อมูล : กรมการแพทย์





 



 

X