ในงานสัมมนาสื่อมวลชนกับการขับเคลื่อนความปลอดภัยทางถนน โดยศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ข้อมูลจากการรายงานขององค์กรอนามัยโลก และข้อมูล 3 ฐานของประเทศไทยระบุว่า คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนนปีละ 20,000 คน เฉลี่ยวันละ 60 คน จึงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข หนึ่งในนั้นคือการป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ และลดการบาดเจ็บของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ โดยผลักดันให้มีการสวมหมวกนิรภัย
ผลวิจัยของศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียพบว่า การสวมหมวกนิรภัยช่วยลดโอกาสการเสียชีวิตเนื่องจากการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ ร้อยละ 72 ลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ร้อยละ 39
สำหรับผู้ที่ไม่สวมหมวกนิรภัยมี 10 เหตุผลสำคัญของการไม่สวมหมวกนิรภัยพบว่า
1. คิดว่าตำรวจไม่จับ ร้อยละ 8
2. เร่งรีบ ร้อยละ 29
3. เดินทางระยะใกล้ ร้อยละ 64
4. ร้อน อึดอัด สวมใส่แล้วไม่สบาย สกปรก ร้อยละ 21
5. ไม่มีหมวกนิรภัย ร้อยละ 7
6. ไม่มีที่เก็บ พกพาลำบาก กลัวหาย ร้อยละ 10
7. บุคคลที่มานั่งด้วยก็ไม่ได้สวม ร้อยละ 4
8. ไม่ได้ขับขี่รถออกถนนใหญ่ ร้อยละ 37
9. กลัวผมเสียทรง ร้อยละ 13
10. คิดว่าโอกาสเกิดอุบัติเหตุมีน้อย ร้อยละ 6
อัตราการสวมหมวกนิรภัยในประเทศไทย ปี 2561 ในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า ทั้งผู้ขับขี่และผู้โดยสาร มีการสวมหมวกนิรภัยร้อยละ 45 เฉพาะผู้ขับขี่ ร้อยละ 52 เฉพาะผู้โดยสาร ร้อยละ 22
และ 10 จังหวัดที่มีอัตราการสวมหมวกนิรภัยในผู้ขับขี่และผู้โดยสาร “ต่ำสุด” ได้แก่
1. บึงกาฬ ร้อยละ 12
2. นราธิวาส ร้อยละ 16
3. นครพนม ร้อยละ 19
4. ยะลา ร้อยละ 20
5. ยโสธร ร้อยละ 20
6. ปัตตานี ร้อยละ 21
7. ชัยภูมิ ร้อยละ 21
8. เลย ร้อย 23
9. หนองคาย ร้อยละ 25
10. พัทลุง ร้อยละ 26
ในช่วงเทศกาลปีใหม่ มักจะมีการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสาเหตุหลักมาจากการดื่มสุราแล้วขับ ด้าน นพ.ธนะพงษ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) กล่าวว่า ในปี 2562 นี้ ผู้คนเริ่มกลับลาพักร้อนกลับบ้านกันก่อน คาดว่าจะเริ่มมีการสังสรรค์กันตั้งแต่วันที่ 28 เป็นต้นไป จึงทำให้เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน เนื่องจากการดื่มแล้วขับ เตือนพี่น้องประชาชน ระมัดระวังในการขับขี่กันด้วย