“คุณเคยสังเกตตัวเองบ้างหรือไม่.. ว่าในแต่วันคุณขยับร่างกายบ่อยแค่ไหน?” แน่นอนว่าในชีวิตประจำวันของเราทุกคนล้วนแล้วแต่มีการกิจกรรมทางกายตั้งแต่ตื่นนอนจวบจนเข้านอน แต่นั่นก็อาจจะยังไม่เพียงพอจนนำไปสู่ความเสี่ยงของการเกิดโรคไม่ติดต่อ ไม่ว่าจะโรคหลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ หรือเบาหวานได้ และเนื่องในวันสาธารณสุขแห่งชาติ กรมอนามัยจึงได้ออกมาแนะนำให้คนไทยเพิ่มกิจกรรมทางกาย อย่างการเดินกระฉับกระเฉง ปั่นจักรยาน หรือหันไปใช้รถสาธารณะ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อ
กิจกรรมทางกายในสังคมไทย
สำหรับประเทศไทยกับกิจกรรมทางกาย พบว่า ผู้ที่มีอายุ 6-17 ปี ร้อยละ 73 และผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ร้อยละ 29 มีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ หรือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง มากกว่า 14 ชั่วโมงต่อวัน และจากผลสำรวจกิจกรรมทางกายในประเทศไทย ปี 2559 พบว่าในแต่ละวันหลายๆ คนใช้ระยะเวลากับกิจกรรมทางกายที่มากที่สุดคือการทำงาน รองลงมาคือมีพฤติกรรมเนือยนิ่ง การเดินทาง และน้อยที่สุดคือนันทนาการ การออกกำลังกาย เล่นกีฬา ดังนั้น การเพิ่มกิจกรรมทางกาย อย่าง “การเดินกระฉับกระเฉง ปั่นจักรยาน รวมถึงหันไปใช้รถสาธารณะ” จะทำให้ชีวิตประจำวันของเราทุกคนได้มีการขยับเขยื้อนร่างกายมากขึ้น สม่ำเสมอ ช่วยลดเสี่ยงโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวาน โรคมะเร็งเต้านมและลำไส้ได้
ทั้งนี้ การเดินกระฉับกระเฉง จะทำให้เกิดการใช้พลังงานถึงร้อยละ 15 ต่อวัน หรือ 180 กิโลแคลอรี่ สูงกว่าพลังงานจากกิจกรรมทางกายจากนันทนาการ ออกกำลังกายและ เล่นกีฬา ที่ใช้เพียงร้อยละ 10 หรือ 126 กิโลแคลอรี่ ซึ่งผลจากการสำรวจกิจกรรมทางกายของคนไทย ในปี 2559 จำนวน 108,416 คน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า มีการใช้พลังงานจากกิจกรรมทางกายด้วยการเดินทางกระฉับกระเฉง ร้อยละ 17 ต่อวัน หรือร้อยละ 48 ของข้อแนะนำการมีกิจกรรมทางกายขององค์การอนามัยโลก จัดเป็นกิจกรรมทางกายที่ใครๆ ก็สามารถทำได้ง่ายๆ
การเพิ่มกิจกรรมทางกาย อย่าง “การเดินกระฉับกระเฉง ปั่นจักรยาน หรือหันไปใช้รถสาธารณะ” ถือเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่มีเวลาในการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ซึ่งกิจกรรมลักษณะนี้ นอกจากจะสร้างสุขภาพที่ดี ลดความเสี่ยงของโรคไม่ติดต่อแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการลดใช้ยานพาหนะส่วนบุคคลในการเดินทาง ทำให้การจราจรที่คับคั่งลดลง รวมถึงลดมลภาวะทางอากาศและเสียง เพิ่มคุณภาพชีวิตของเราทุกคนให้ดีขึ้นนั่นเอง
Cr. กรมอนามัย