พ.ต.อ.สมเกียรติ นนทแก้ว ผู้อำนวยการ สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ในแต่ละปีจะมีเหตุอัคคีภัยกับอาคารบ้านเรือนประมาณ 1,000 ครั้ง และไหม้หญ้าอีกประมาณ 2,000 ครั้ง ซึ่งในช่วงฤดูหนาวของทุกปีมักจะมีสถิติสูงที่สุด เนื่องจากอากาศจะแห้ง และเกิดอัคคีภัยได้ง่าย ส่วนสาเหตุอันดับแรกอ้างอิงจากข้อมูลของตำรวจ คือ "ไฟฟ้าลัดวงจร" ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจผิดคิดว่าเกิดจากการเดินระบบไฟฟ้าที่ไม่ดี แต่แท้ที่จริงแล้ว คือการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน
.jpg)
อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่ได้มาตรฐาน รวมถึงอุปกรณ์ที่หมดอายุการใช้งาน เช่น พัดลมที่มอเตอร์เริ่มชำรุด ใบพัดอาจไม่ยอมหมุน ทางที่ดีควรซื้อตัวใหม่ใช้ แต่ยังพบว่าหลายคนเห็นว่าพอเอามือไปช่วยหมุนเริ่มต้น ก็ทำงานได้แล้ว บางครั้งประมาทเปิดทิ้งไว้กลางคืนไม่มีคนดู กลายเป็นว่าเมื่อใบพัดหยุดหมุน มอเตอร์ก็จะเกิดความร้อน และทำให้เกิดไฟฟ้าลัดวงจรได้เหมือนกัน ,หรืออย่างหม้อหุงข้าว ที่สวิตช์ตัดไฟเริ่มทำงานไม่ปกติ บางบ้านก็ใช้วิธีหาอะไรไปช่วยงัด ,และที่เห็นได้ชัดอย่างปลั๊กไฟ ถ้าเห็นคราบเขม่าจากรอยไหม้ ก็ควรต้องซื้อเปลี่ยนใหม่ ไม่ใช่ขยับๆพอไฟติดแล้วใช้ต่อไป ถือว่ามีความเสี่ยงต่อเกิดอัคคีภัย
.jpg)
ข้อแนะนำประชาชนทุกคนควรทราบว่า"คัทเอาท์"ของบ้านอยู่ที่ไหน และหากมีอุปกรณ์ใดในตู้ชำรุด ควรให้ช่างไฟฟ้ามาเปลี่ยนอุปกรณ์ ส่วนใหญ่ราคาเพียงหลักร้อย แต่กลับพบว่ามักมีการดัดแปลงเชื่อมไฟฟ้าเอาง่าย ซึ่งไม่ควรทำ ทั้งนี้หากคุณเห็นไฟฟ้าเริ่มลัดวงจรในระยะแรก เริ่มมีควันดำออกมา สิ่งแรกที่ต้องทำคือการตั้งสติ แล้วรีบไปตัดกระแสไฟฟ้า สับคัทเอาท์ลงทันที และควรมีถังดับเพลิงติดบ้าน เพื่อนำมาใช้ให้ทันท่วงที การใช้น้ำสาดลงไปโดยยังไม่ทันตัดกระแสไฟฟ้า อาจเป็นอันตรายกับตัวคุณเองได้
สำหรับมาตรฐานการเข้าควบคุมอัคคีภัย ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรุงเทพมหานคร นั้น หลังรับแจ้งเหตุจะต้องถึงที่เกิดเหตุภายใน 10 นาที ซึ่งถือว่าไม่ง่าย เพราะปัจจุบันมีสถานีดับเพลิงอยู่ 37 สถานี ส่วนใหญ่อยู่ชั้นในเมือง ตั้งมาตั้งแต่สมัยเป็นตำรวจดับเพลิง ขณะนี้กำลังจะเปิดเพิ่มอีก 5 สถานี แต่ทั้งนี้เมื่อไปถึงที่เกิดเหตุก็ต้องรอให้ตัดกระแสไฟฟ้าให้เรียบร้อยก่อน ซึ่งมีการทำงานร่วมกับทาง กฟน. ส่วนมากจะใช้วิธีให้ศูนย์ฯสั่งตัดไฟฟ้าเป็นวงกว้างก่อน แล้วให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตัดในวงแคบลงเพื่อลดผลกระทบ
อย่างไรก็ตามการฉีดน้ำดับเพลิงถือเป็นอาวุธพื้นฐานที่ใช้สู้กับไฟ แต่การดับไฟที่ดีที่สุดคือการใช้โฟมดับเพลิงช่วย โดยเฉพาะวัสดุอย่างพลาสติกและโฟม ยิ่งต้องใช้โฟมดับเพลิงผสมน้ำ หรืออย่างสารเคมีบางชนิด เช่น ทินเนอร์ แอลกอฮอล์ และน้ำมัน มีคุณสมบัติลอยอยู่บนน้ำ หากไม่ใช้โฟมดับเพลิงช่วยก็จะไม่สามารถดับได้ แต่ในทางปฏิบัติบางครั้งก็เป็นไปได้ยากว่าภายในมีวัสดุประเภทไหนอยู่บ้าง ทำให้การควบคุมไฟทำได้ล่าช้า ดีที่สุดต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดอัคคีภัย หรือควรมีถังดับเพลิงติดไว้เผื่อกรณีฉุกเฉิน