ศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ ย้ำ!! พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ ไม่ได้คุ้มครองลูกหนี้ให้สามารถเบี้ยวหนี้ได้

25 พฤศจิกายน 2562, 16:24น.


            เชื่อว่าหลังจากที่ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีผลบังคับใช้ไป (21 พ.ย. 62) ซึ่งมีข้อบังคับที่ถูกพูดถึงกันมากอย่างการห้ามทวงหนี้เกินวันละหนึ่งครั้ง การทวงหนี้ก็ต้องอยู่ในเวลาที่กำหนด ฯลฯ ก็คงจะทำให้เจ้าหนี้รู้สึกว่ากฎหมายดังกล่าวให้สิทธิกับลูกหนี้ คุ้มครองลูกหนี้มากเกินไป แล้วเจ้าหนี้ที่ให้เงินไปล่ะ..  จะไม่มีสิทธิเลยเหรอ?? จนอาจทำให้เจ้าหนี้บางคนกลัว หรือกังวลว่าลูกหนี้จะเบี้ยวไม่จ่ายหนี้ได้ ด้วยความห่วงใยจากศูนย์พิทักษ์สิทธิฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ออกมาอธิบายถึง พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้เกิดความสบายใจ รวมถึงทำความเข้าใจกับกฎหมายฉบับนี้มากยิ่งขึ้น

         
  เจ้าหนี้.. เรามาทำความเข้าใจกันก่อนนะ

            จริงๆ แล้ว พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558 มีเจตนาเพื่อควบคุมพฤติกรรมของเจ้าหนี้ และผู้ติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะไม่มีมาตราใดที่ห้ามการทวงถามหนี้เลย เพียงแต่เจ้าหนี้และผู้ติดตามทวงถามหนี้ต้องจดทะเบียน หรือได้รับอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายเสียก่อน เพื่อให้หน่วยงานสามารถควบคุมพฤติกรรมของผู้ทวงถามหนี้ได้ เนื่องจากเมื่อก่อนมีกรณีที่เจ้าหนี้นอกระบบไปข่มขู่หรือทำร้ายร่างกายลูกหนี้จนได้รับเจ็บหรือเสียชีวิตนั่นเอง นอกจากนี้ ในการทวงถามหนี้ หากผู้ติดตามทวงถามและรับจ่ายหนี้จากลูกหนี้จะต้องมีเอกสารมาแสดงด้วยว่าได้รับมอบหมายจากเจ้าหนี้ให้ติดตามทวงถาม และสามารถรับจ่ายหนี้ได้ด้วย

            เจาะลึก พ.ร.บ. การทวงถามหนี้


            สำหรับ พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ อธิบายง่ายๆ คือ แบ่งเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ สิ่งที่ห้ามทำ และเวลาในการทวงหนี้ โดยสิ่งที่ห้ามทำ ได้แก่



            1. การข่มขู่ ทำให้ลูกหนี้กลัว หรือทำร้ายร่างกาย



            2. การทำให้ลูกหนี้เข้าใจผิดว่าผู้ติดตามทวงถามหนี้เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวกับศาล



            3. การประจาน หรือสร้างความเดือดร้อนรำคาญให้กับผู้ที่อยู่รอบตัวลูกหนี้ เช่น ญาติพี่น้อง หรือเพื่อนร่วมงาน



            ส่วนเวลาในการทวงหนี้ กฎหมายได้กำหนดให้ในวันทำการ (วันจันทร์ - วันศุกร์) สามารถติดต่อทวงถามหนี้ได้ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 20.00 น. ส่วนวันหยุดราชการ หรือวันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถทวงถามหนี้ได้ ตั้งแต่เวลา 8.00 - 18.00 น.

            ทั้งนี้ ผู้ติดตามทวงถามสามารถทวงถามหนี้ได้เฉพาะกับลูกหนี้เท่านั้น ยกเว้นลูกหนี้มีการระบุชื่อคนอื่นๆ ที่สามารถทวงถามหนี้ได้ลงในสัญญา ส่วนบุคคลอื่นที่ไม่ได้ถูกระบุชื่อลงในสัญญา ผู้ติดตามทวงถามหนี้ไม่มีสิทธิ์พูดคุยหรือสอบถามในลักษณะที่เกี่ยวกับหนี้โดยเด็ดขาด ทำได้เพียงการสอบถามหรือยืนยันข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่ติดต่อลูกหนี้ หรือคนที่ลูกหนี้ระบุไว้ในสัญญาเท่านั้น

            แล้วลูกหนี้สามารถรวมตัวแจ้งความไม่จ่ายหนี้ได้ไหม?

            การที่ลูกหนี้รวมตัวกันไปแจ้งความกับตำรวจ แล้วไม่ต้องจ่ายหนี้นั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีระบุอยู่ในกฎหมาย แต่ในกรณีที่ลูกหนี้ถูกเจ้าหนี้ หรือผู้ติดตามทวงถามหนี้ปฏิบัติอย่างไม่เหมาะสมก็สามารถแจ้งเรื่องไปที่เจ้าหน้าที่ตำรวจหรือกรมการปกครอง ซึ่งจะมีหน่วยงานที่รับเรื่องร้องเรียนนี้อยู่และจะทำการเสนอเรื่องต่อไปยังคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ประจำจังหวัดเพื่อพิจารณาและดำเนินการต่อไป



            จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. การทวงถามหนี้ไม่ได้คุ้มครองลูกหนี้ให้สามารถหลีกเลี่ยงการจ่ายหนี้ได้ ซึ่งในปัจจุบันมีกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองเจ้าหนี้อยู่แล้ว หากลูกหนี้ไม่ยอมจ่ายหนี้ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ เจ้าหนี้สามารถฟ้องร้องเพื่อให้ศาลบังคับชำระหนี้ได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2535



 



Cr.มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค





 

X