!-- AdAsia Headcode -->

กรมสุขภาพจิตเตือน!! ผู้ป่วยจิตเวช – เด็กอายุต่ำกว่า 17 ปี ควรหลีกเลี่ยงภาพยนตร์เรื่อง Joker หลังตัวละครมีอาการ PBA

07 ตุลาคม 2562, 12:10น.


            คงไม่ต้องบอกว่าภาพยนตร์ที่กำลังถูกพูดถึงอยู่ ณ ขณะนี้จากผู้คนแทบจะทั่วโลกเป็นเรื่องอะไรไปไม่ได้นอกจากภาพยนตร์เรื่อง “Joker” แน่นอนว่าผู้ที่เข้าไปดูนั้นหลากหลายช่วงวัย ซึ่งหลังจากที่ได้รับชมกันแล้วต่างวิพากษ์วิจารณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้ทั้งดาร์ก เศร้า หดหู่ กดดัน จนนำไปสู่การกระทำที่ถึงแก่ชีวิตได้ ด้วยความห่วงใยจากกรมสุขภาพจิตจึงได้ออกมาเตือนถึงภาพยนตร์เรื่องนี้ พร้อมพาไปทำความรู้จักกับภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ให้เข้าใจกันมากขึ้น

           ภาพยนตร์เรื่อง “Joker”
จัดอยู่ในเรท R (Restricted) ซึ่งหมายถึง เด็กและเยาวชนที่อายุต่ำกว่า 17 ปี จะเข้าชมได้ก็ต่อเมื่อมีผู้ปกครองควบคุมดูแลเท่านั้น เนื่องจากเนื้อหาประกอบไปด้วย ความรุนแรงระดับสูง ภาษาที่ไม่เหมาะสม รวมไปถึงความเศร้า หดหู่ และสถานการณ์ที่อาจกระทบต่อภาวะทางจิตใจได้

          
ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้

         ภาวะควบคุมการหัวเราะไม่ได้ Pseudobulbar Affect (PBA) หรือในบางครั้งก็ถูกเรียกว่า Pathological Laughing and crying เป็นโรคที่ไม่สามารถควบการหัวเราะ หรือร้องไห้ได้เลย โดยผู้ป่วยจะแสดงสีหน้าไม่ตรงกับอารมณ์  ทั้งการหัวเราะและร้องไห้นั้นจะไม่เข้ากับสถานการณ์ใดๆ ซึ่งในแต่ละครั้งที่มีอาการจะเป็นระยะเวลาที่นาน ไม่สามารถคาดเดาได้ และใน 1 วัน อาจแสดงอาการได้หลายครั้ง

           
 สาเหตุและวิธีการรักษาโรค

            สาเหตุที่พบเชื่อว่าเกิดจากปัญหาที่สมองส่วนหน้า (Prefrontal cortex) ซึ่งจะพบได้ในโรคต่างๆ อย่าง โรคความจำเสื่อมและโรคพาร์กินสัน เนื้องอกในสมองบางชนิด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปลอกประสาทเสื่อม (Multiple Sclerosis)  โดยวิธีการรักษา คือ



            - ผู้ที่มีอาการดังกล่าวควรพบแพทย์และอธิบายอาการทั้งหมด เพื่อให้แพทย์ได้แยกอาการป่วยระหว่าง PBA กับ โรคทางอารมณ์ชนิดอื่นๆ เช่น โรคซึมเศร้า ไบโพลาร์



            - ทำไดอารี่บันทึกช่วงเวลาที่มีอาการ



            - ใช้ยารักษาร่วมด้วย



           แล้วเราจะดูแลตัวเอง หรือคนที่มีอาการอย่างไร



           - พูดคุยทำความเข้าใจเกี่ยวกับอาการนี้กับครอบครัว เพื่อลดความตื่นตระหนกเมื่อมีอาการ



           ปรับเปลี่ยนอิริยาบถขณะเกิดอาการ เช่น อาจจะกำลังนั่งอยู่ก็ลุกยืนขึ้น หรือเดิน ฯลฯ



           - พยายามหายใจเข้าออกอย่างช้าๆ



           - ฝึกการผ่อนคลายทุกๆ วัน เช่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ ออกกำลังกาย ฯลฯ



           ในการรับชมภาพยนตร์ หรือสื่อที่ประกอบด้วยความรุนแรงไม่ว่าจะประเภทใดก็ตาม ควรตรวจสอบสภาพจิตใจตัวเอง และคนใกล้ชิดก่อนว่าพร้อมที่จะรับเนื้อหาที่มีความรุนแรงได้หรือไม่ ในกรณีที่ยังไม่พร้อมทุกคนควรหลีกเลี่ยงรับเนื้อหาเหล่านั้นไปก่อน ทั้งนี้ หากใครที่ได้รับผลกระทบจากการรับชมภาพยนตร์ดังกล่าว หรือเรื่องอื่นๆ สามารถเข้าพบแพทย์ด้านสุขภาพจิตใกล้บ้าน หรือติดต่อสายด่วนสุขภาพจิต โทร. 1323



 



 



ข้อมูล : กรมสุขภาพจิต

รูปภาพ : ภาพยนตร์เรื่อง Joker


 





 



   

X